น้ำมันโลกพุ่งรวดเดียวกว่า 5 เหรียญต่อบาร์เรล กบน.เร่งใช้เงินพยุงราคาดีเซลไม่ให้ปรับขึ้น ส่วนกลุ่มเบนซินจ่อขึ้นแน่ มีผล 5 เม.ย. 2566

448
- Advertisment-

ราคาน้ำมันโลกช็อกตลาด พุ่งขึ้นรวดเดียวกว่า 5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังโอเปค พลัส ประกาศลดกำลังผลิตน้ำมันดิบอีก 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เร่งแก้ปัญหาลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯเหลือ 4.77 บาทต่อลิตร หวังพยุงค่าการตลาด ป้องกันผู้ค้าน้ำมันปรับขึ้นราคาดีเซล ส่วนราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินมีโอกาสปรับขึ้นกว่า 50 สตางค์ต่อลิตรได้ ในวันที่ 5 เม.ย. 2566 นี้  พร้อมยืนยันกองทุนฯยังรับมือราคาน้ำมันบวกลบไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ และยังมีเงินไหลเข้ากว่า 300 ล้านบาทต่อวัน มั่นใจ 7 เม.ย. 2566 ลดราคาดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรตามกำหนดเดิมได้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2566 ราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นรวดเดียวกว่า 5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ในวันที่ 4 เม.ย. 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เปิดประชุมเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีหลังทราบราคาน้ำมันโลกที่ปรับขึ้นดังกล่าว โดย กบน.มีมติให้ปรับลดการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ เหลือ 4.77 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 5.62 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้เนื่องจากต้องชดเชยค่าการตลาดน้ำมันดีเซลให้ผู้ค้ามาตรา 7  (ม.7) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกดีเซลเกิน 33.44 บาทต่อลิตร เนื่องจากค่าการตลาดน้ำมันของผู้ค้า ม.7 ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในวันที่ 4 เม.ย. 2566 พบว่าลดต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร โดยอยู่ที่ 0.94 บาทต่อลิตร จากที่ควรได้ 1.80-2 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร  

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามทาง กบน. ยืนยันว่าจะยังคงปรับลดราคาดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร ตามมติ กบน. เดิม เหลือ 33 บาทต่อลิตร มีผลในวันที่ 7 เม.ย. 2566 ต่อไป เพราะเห็นว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันโลกในครั้งนี้ เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดจากความวิตกต่อการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปค พลัส  ซึ่งคาดว่าราคาจะผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น

นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์ที่ปรับขึ้นกว่า 5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ระดับ 102.04 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลนี้ ยังอยู่ในระดับที่ กบน. รับได้ และเป็นราคาที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับบวกและลบประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบกับกองทุนน้ำมันฯ ยังมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงแต่อย่างใด แต่หากราคาเกิน 110-120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล กบน.จะกลับมาทบทวนราคาดีเซลกันใหม่อีกครั้ง 

ดังนั้นราคาดีเซลจะไม่มีการปรับขึ้น แต่ในส่วนของราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินอาจปรับขึ้นประมาณ บวกลบ 50 สตางค์ต่อลิตร ในวันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ค้าน้ำมันเป็นหลัก

ส่วนสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 2 เม.ย. 2566 ที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พบว่าฐานะกองทุนฯ ยังคงติดลบ 91,860 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 45,008 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม( LPG) 46,860 ล้านบาท แต่มีเงินไหลเข้าจากบัญชีน้ำมัน 378.53 ล้านบาทต่อวัน และเงินไหลเข้าจากบัญชี LPG 6.74 ล้านบาทต่อวัน

สำหรับเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2566 ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยหน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) ได้รายงานว่าราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 83.90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5.96 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 80.42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 4.75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 84.93 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ปรับขึ้นตาม โดยน้ำมันดีเซลราคาอยู่ที่ 99.10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับขึ้นรวดเดียว 5.34 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 104.12 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับขึ้นถึง 6.62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับเพิ่มกว่า 6% จากความกังวลอุปทานตึงตัว หลังกลุ่มโอเปค พลัส ( OPEC+ ) ได้มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงกว่า 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 2 เม.ย. 2566 จากเดิมซึ่งมีการลดกำลังการผลิตก่อนหน้าอยู่แล้ว ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่ม OPEC+ จะลดลงทั้งหมด 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของอุปสงค์ทั่วโลก

Advertisment