นโยบายลดค่าไฟของรัฐบาลถูกใจแต่ไม่ยั่งยืน

385
- Advertisment-

ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคครัวเรือนที่อยู่อาศัยและภาคอุตสาหกรรมที่ถูกใจกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลงจาก 4.15 เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 อาจจะยังไม่ทราบว่า ภาระต้นทุนที่ถูกทำให้หายไปจำนวน 16 สตางค์ต่อหน่วยนั้นไม่ได้หายไปไหน  แต่จะฝากเอาไว้ก่อนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่นงวดค่าไฟที่ผ่านๆมา เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทะยอยจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยไปจนครบตามจำนวน 

แม้นโยบายการปรับลดค่าไฟฟ้าที่ไม่สะท้อนตามต้นทุนเชื้อเพลิงคือก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นจริง โดยให้ กฟผ.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน เป็นผู้รับภาระแทนประชาชนไปก่อน จะสามารถทำได้เพื่อลดผลกระทบให้ผู้ใช้ไฟฟ้า แต่รัฐบาลคือคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควรจะต้องคำนึงถึงปัญหาการขาดสภาพคล่อง การชำระคืนหนี้เงินกู้ และความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดเครดิตเรตติ้ง ของ กฟผ.ด้วย 

โดยที่ผ่านมาหลายรัฐบาลใช้นโยบายเรื่องปรับลดหรือตรึงค่าไฟฟ้าที่ไม่ให้สะท้อนต้นทุนจริงมาเพื่อสร้างคะแนนนิยมและเคลมเป็นผลงานให้รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบันโดยให้ กฟผ. เป็นผู้รับภาระต้นทุนส่วนต่างของเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นเอาไว้ก่อน จนภาระส่วนนี้ของ กฟผ.เคยสูงขึ้นไปทะลุ 1.3 แสนล้านบาท และมีปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินมาเสริมสภาพคล่อง ก่อนที่ยอดภาระจะค่อยๆปรับลดลง ซึ่งตัวเลขจริง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ประมาณ 71,740 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนค่าไฟประมาณ 99.98 สตางค์ต่อหน่วย

- Advertisment -

แนวโน้มของการปรับลดภาระค้างจ่ายหนี้เชื้อเพลิงกำลังจะประคับคองไปในทิศทางที่ดี โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าและมีความกังวลต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ.ได้มีมติเคาะอัตราค่าไฟฟ้า งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ออกมาแล้วโดยตรึงราคาเอาไว้ที่ระดับเดิม คือ 4.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตราดังกล่าวได้บวกรวมยอดที่จะต้องจ่ายคืนหนี้ให้ กฟผ.เอาไว้ด้วย เป็นจำนวน 14,590 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.33 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ยอดภาระค้างจ่ายลดลงเหลือ 60,474 ล้านบาท และ กฟผ.สามารถนำไปเสริมสภาพคล่องขององค์กรได้ตามแผนงาน 

แต่มติ กกพ.ดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่เห็นด้วย และทำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบว่ากระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ปรับลดลงเหลือไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้ กฟผ.และ กกพ.ไปหาแนวทางแก้ปัญหาสัญญา Adder และ FiT รวมถึงสัญญา PPA ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ สั่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2568 ถูกลง โดยกำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 45 วันนับจากที่ ครม.รับทราบ  ซึ่งก็จะครบกำหนดวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุว่า แนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับการไปทบทวนสัญญา Adder และ FiT รวมถึงสัญญา PPA ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ และปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในระยะเวลา 45 วัน แต่ค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 คงจะต้องปรับลดตามตัวเลขนโยบาย คือ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่ง สำนักงาน กกพ.และ กฟผ.จะมีการหารือร่วมกันในวันที่ 23 เมษายน 2568 นี้  โดยแนวทางดำเนินการที่เป็นไปได้คือการปรับลดการคืนหนี้ค้างจ่ายให้ กฟผ.จากที่ควรจะได้ 20 สตางค์ต่อหน่วย ก็จะเหลือประมาณ 4 -5 สตางค์ต่อหน่วยโดยหากอัตราที่ได้รับดังกล่าวทำให้ กฟผ.เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ก็จะต้องมีแนวทางอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยในแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ครม.ก็เคยมีมติให้ ไปขอความร่วมมือจาก ปตท.ให้ช่วยยืดระยะเวลาการจ่ายค่าเชื้อเพลิงให้ กฟผ.ออกไปก่อน 

สำหรับปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนสำคัญมีเหตุมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีนำเข้า ที่มีความผันผวนระดับสูงเมื่อปี 2565  จากผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัฐได้ให้ กฟผ.เป็นหน่วยงานที่ต้องรับภาระส่วนต่างของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และใช้วิธีทยอยจ่ายคืนโดยบวกรวมเข้าไปในต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละงวด 4 เดือนที่มีการคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรหรือที่เรียกว่า ค่าเอฟที โดยต้นทุนที่แบกรับในส่วนนี้ ในที่สุดก็จะต้องทยอยเก็บคืนจากผู้ใช้ไฟฟ้าจนครบตามจำนวนพร้อมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ กฟผ.ไปกู้จากสถาบันการเงินมาเพื่อให้สามารถรับภาระดังกล่าวได้ 

ในส่วนการแก้ปัญหาสัญญา Adder และ FiT รวมถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ หรือถูกมองว่า เป็นการซื้อไฟฟ้าเข้าสู่ระบบมากเกินกว่าความจำเป็นและทำให้เกิดต้นทุนค่าความพร้อมจ่าย หรือ Available Payment -AP กับโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่ไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องนั้นโดย กฟผ.ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาดำเนินการทุกเรื่องตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  การจะให้ทบทวนหรือบอกเลิกสัญญาใดๆ ก็จะต้องเป็นมติที่ออกมาจากทั้ง กพช.และ ครม. ที่รัฐจะต้องระมัดระวังเรื่องการถูกฟ้องร้องจากเอกชนที่เป็นคู่สัญญาด้วย 

ทั้งนี้การดำเนินนโยบายปรับลดค่าไฟฟ้าหากรัฐบาลมุ่งหวังเพียงใช้เป็นนโยบายประชานิยม เพื่อให้ประชาชนถูกใจ เพราะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลนโยบายพลังงานอยู่เพียงไม่นานก็ไป ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการสร้างภาระต้นทุนที่สั่งสมเอาไว้ในค่าไฟฟ้า ให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทยอยตามใช้คืน และทำให้รัฐวิสาหกิจที่ควรจะมีบทบาทสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้ประเทศเกิดความอ่อนแอ มีปัญหาสภาพคล่อง ในท้ายที่สุด ก็จะทำหน้าที่ได้ไม่ยั่งยืน ในที่สุดประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมด ในอัตราที่สูงกว่าเดิม 

Advertisment