นำเข้าLNGล็อตใหม่ กฟผ.อาจต้องรอหลังปี2566 เหตุกระทบคุณภาพก๊าซในระบบท่อ

2547
- Advertisment-

การนำเข้าก๊าซLNGล็อตใหม่ในปริมาณกว่า1.6ล้านตันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ซึ่งจะเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซบนบกของปตท. อาจจะต้องรอหลังปี2566 เพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพก๊าซในระบบท่อก๊าซบนบกและการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่เป็นลูกค้าของปตท. โดยปตท.ได้มีการชี้แจงประเด็นปัญหาดังกล่าวให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพลังงานรับทราบเพื่อหาแนวทางแก้ไขแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มีประเด็นปัญหาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ(LNG)ล็อตใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน1.6ล้านตันในปี 2563-2564 ซึ่ง กฟผ.กำลังมีการเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดย ทางปตท.ในฐานะที่เป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือ ระบบคลังรับจ่ายก๊าซLNG และระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ได้นำเรื่องชี้แจงต่อทางกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)แล้ว โดยเสนอให้ กฟผ.ในฐานะที่เป็นShipper รายที่สอง นำเข้าLNG เข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ. หลังจากปี 2566  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพก๊าซธรรมชาติในระบบท่อและการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของลูกค้าที่มีสัญญาซื้อก๊าซกับปตท.ผ่านระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซบนบก

โดยปัจจุบันการนำก๊าซธรรมชาติไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าภายใต้ระบบ ระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซบนบก ที่มีปตท.เป็นผู้บริหารจัดการ นั้น ได้มีข้อกำหนดค่าควบคุมคุณภาพก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่เรียกว่า Wobbe Index (WI) ที่ตกลงกันเพื่อไม่ให้ คุณภาพก๊าซที่ปตท.ส่งให้ลูกค้า มีปัญหาต่ออุปกรณ์และการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า

- Advertisment -

ซึ่งในการบริหารจัดการคุณภาพก๊าซ ในระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซบนบกในภาคตะวันออก ปตท.จะผสมก๊าซจาก 3 แหล่งที่มีค่าWI ที่ต่างกันคือ 1.ก๊าซจากอ่าวไทยที่ผ่านโรงแยกก๊าซ หรือ (Sales Gas GSP) ซึ่งมีค่า WI ประมาณ 1,320 Btu/scf  2.ก๊าซจากอ่าวไทยที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซ หรือ(Bypass Gas) มีค่า WI ประมาณ 1,050 Btu/scf เนื่องจากก๊าซอ่าวไทยมี CO2
เป็นส่วนประกอบประมาณ 20-23 mol% และ 3.LNG นำเข้าซึ่งโดยเฉลี่ยมีค่า WI ประมาณ 1,400 Btu/scf   ให้มีคุณภาพก๊าซ แบบเดียวกันก่อนส่งให้ลูกค้า  โดยอยู่ในBand ±5% หรือประมาณ1,220 – 1,340 Btu/scf) ซึ่งสอดคล้องกับอุปกรณ์ของลูกค้า และเป็นไปตามประกาศของ กกพ.

ดังนั้นการที่ กฟผ. ซึ่งเป็น Shipper รายใหม่จะนำเข้า LNG ที่มีค่า WI 1,400 Btu/scf เข้ามาในระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซของ ปตท. ในปริมาณ 6 แสนตันในปี 2563 และอีกกว่า 1 ล้านตันในปี 2564 นอกจากจะไม่เป็นไปตาม TPA code ที่กกพ.ประกาศแล้ว  ยังจะกระทบต่อคุณภาพก๊าซในระบบท่อเดิม เนื่องจากค่า WI โดยเฉลี่ยจะสูงเกินกว่า Band ควบคุม ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของลูกค้าได้ ซึ่งตามTPA code ของกกพ. จะต้องมีผู้รับผิดชอบความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้การปรับเพิ่ม Band ควบคุมคุณภาพก๊าซให้สูงขึ้นรองรับ  LNG นำเข้าจำนวนมากในอนาคต จำเป็นจะต้องให้ลูกค้ามีระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ ประมาณ18เดือน และต้องดำเนินการไปพร้อมกันทั้งหมด  โดยมีแผนงานที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จหลังปี2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ Bypass Gas จากอ่าวไทยหมดลง จาก ปัจจุบันที่ยังคงมีก๊าซ Bypass Gas อยู่ประมาณ 300 – 400 MMscfd(ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน)

อย่างไรก็ตามการนำเข้าLNG เพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่น หรือ ขนส่งผ่านระบบอื่นเช่น รถบรรทุกหรือเรือขนส่งขนาดเล็ก ที่ใช้ท่าเรือและคลังLNG แต่ไม่ได้เกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซบนบกของ ปตท. สามารถที่จะดำเนินการได้ตามนโยบายการเป็น LNG HUB ของกระทรวงพลังงาน

Advertisment