นับถอยหลังวันเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณ จากสัมปทานสู่พีเอสซี 23 เม.ย.65

1871
- Advertisment-

หลายฝ่ายจับตาวันที่ 23 เม.ย. 2565 ที่จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์วงการปิโตรเลียมไทย ในการเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณจากระบบสัมปทานในมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่มี บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) กับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญารายใหม่กับรัฐว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่อย่างไร แล้วในท้ายที่สุดประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องร่วมรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน

การเปลี่ยนมือผู้ผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณจะเริ่มขึ้นในช่วงประมาณ 18.00 น.ของวันที่ 23 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยกระทรวงพลังงานจะมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการฉุกเฉิน (วอร์รูม) ระหว่าง วันที่ 23 เม.ย.-2 พ.ค. 2565 ประสานการทำงานทั้งเจ้าหน้าที่บนบก นอกชายฝั่งและในออฟฟิศ แบบมีคนมอนิเตอร์กันตลอด 24 ชม.เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาทันทีหากเกิดมีกรณีการผลิตก๊าซฯ สะดุด ติดขัด ไม่เป็นไปตามแผน

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของประเทศอย่าง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เตรียมความพร้อมรองรับกรณีดังกล่าวไว้หลายด้าน ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)​ เพราะช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณ อยู่ในจังหวะที่ไม่ค่อยดี ที่ราคาLNGนำเข้าขยับพุ่งสูง จากผลพวงของสงครามรัสเซียกับยูเครน หากแหล่งก๊าซเอราวัณที่ผลิตก๊าซในราคาต่ำตามเงื่อนไขการประมูล เกิดมีปัญหาสะดุด หรือผลิตก๊าซในปริมาณที่ลดลงมาก ก็จะต้องนำเข้าLNG ราคาแพงเข้ามาทดแทน ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้า

- Advertisment -

ดังนั้นตั้งแต่ปลายปี 2564 กกพ. ได้มีการประสานไปยัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เตรียมพร้อมเปลี่ยนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งก๊าซฯ และน้ำมัน มาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลทดแทน LNG ให้ได้มากที่สุดเพราะอย่างไรเสียก็มีต้นทุนที่ถูกกว่าLNG ที่ต้องนำเข้าแบบSpot

นอกจากนี้ ยังให้โรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ทั้งหมดเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าแทนในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 นี้ด้วยเพื่อป้องกันปัญหาก๊าซฯ ขาดแคลน

เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยดีเซลให้มีต้นทุนต่ำลงอีก ทาง กกพ. ยังเสนอให้กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีนำเข้าดีเซลสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาได้อนุมัติยกเว้นภาษีดีเซลสำหรับผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 6 เดือน หรือไปจนถึง 15 ก.ย. 2565

ในแนวทางการเตรียมพร้อมอื่นๆนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ให้ กกพ. ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 400 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับกรณีแหล่งก๊าซฯเอราวัณผลิตไม่ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โดยล่าสุด กกพ. ได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP จากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ แสงอาทิตย์ และลม เข้ามาเสนอขายไฟฟ้าได้ทั้งกลุ่มที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)กับรัฐ โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ ไว้ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2565 นี้เท่านั้น

รวมทั้งเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา กกพ.ยังได้เปิดรับฟังความเห็น “ร่างหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ….” ซึ่งเป็นการเปิดทางให้โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า เพื่อทดแทนการใช้ LNG สามารถคิดเฉลี่ยราคาเชื้อเพลิงใน Pool Gas ได้ ในช่วงวิกฤติพลังงานได้ด้วย

ที่ต้องเตรียมความพร้อมกันไว้หลายแนวทางเพราะที่ผ่านมาแหล่งก๊าซเอราวัณ ถือเป็นแหล่งก๊าซที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในสัญญาใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น ผู้รับสัญญาจะต้องผลิตก๊าซไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ด้วยปัญหาที่ไม่สามารถเจรจาเพื่อเข้าพื้นที่เตรียมการลงทุนเพิ่มปริมาณการผลิตล่วงหน้าได้ มีการประเมินว่าปริมาณก๊าซที่จะส่งเข้าระบบในวันเปลี่ยนผ่านมือ จะทำได้เพียง 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น ดังนั้นปริมาณก๊าซที่ขาดหายไป ภาครัฐคาดว่าจะต้องมีการนำเข้าLNGเข้ามาทดแทนประมาณ 1.8 ล้านตัน

แนวทางที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ต้องมีการนำเข้าLNGราคาแพงมากขึ้นไปกว่าที่คาดการณ์ ที่จะไม่ให้ไปซ้ำเติมภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชน นอกเหนือจากการเดินเครื่องด้วยดีเซล แทนLNG การเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น แล้ว ในส่วนของผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ในอ่าวไทย คือ ปตท.สผ.ยังจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซ จากทั้งแหล่งอาทิตย์และแหล่งบงกช ซึ่งตามแผนจะเพิ่มขึ้นมาให้ได้อีก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็กำลังประสานงานกับผู้ผลิตในแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย -​มาเลเซีย หรือ JDA เพื่อให้ผลิตก๊าซเพิ่มขึ้นมากกว่าสัญญา

อย่างไรก็ตามแนวทางที่จะเป็นการช่วยลดภาคดีมานด์หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อน ให้เห็นเป็นรูปธรรม มีเฉพาะการประหยัดไฟฟ้าในหน่วยงานราชการจาก 10 % เป็น 20 % ที่เป็นมติคณะรัฐมนตรี​ออกมาแล้ว ส่วนการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยประหยัดไฟฟ้า ที่เป็นภาคสมัครใจ ยังไม่มีกระแสตอบรับที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติก๊าซครั้งนี้ ส่วนมาตรการที่จะสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ลดใช้ไฟฟ้า หรือ Demand Response​ นั้นก็ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์​ออกมา

เบื้องต้นในทางเทคนิคของการปฏิบัติงานในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณ ในวันที่ 23 เม.ย. 2565 นั้นเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา​อะไรที่ติดขัดเพราะทั้งผู้รับสัมปทานรายเดิมคือ เชฟรอน และผู้รับสัญญาใหม่คือ ปตท.สผ.อีดี ต่างให้ความร่วมมือกับภาครัฐเต็มที่ และมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้ากันมาพอสมควร แต่ที่ต้องลุ้นมากกว่าเพราะกระทบกับกระเป๋าเงินของผู้ใช้ไฟฟ้า คือ มาตรการต่างๆที่รัฐกำหนดออกมาเพื่อช่วยลดการใช้LNGนำเข้าราคาแพงว่าจะมีประสิทธิภาพแค่ไหนต่างหาก เพราะมีเสียงแว่วๆมาว่า มาตรการที่จะให้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ VSPP นั้นคงจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเท่าไหร่ เพราะส่งไฟฟ้าขายให้กับระบบสายส่งจำหน่าย ไม่ใช่ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่ถ้าหากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง​ไม่ประสานข้อมูลกับ ทาง กฟผ.ให้ดีก็จะไม่ช่วยลดการเตรียมสำรองโรงไฟฟ้าลงได้

จึงหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมองเห็นปัญหา​และร่วมมือกันก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั่นแหละที่จะเป็นผู้จ่ายค่าความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตการณ์​LNGราคาแพงนี้ทั้งหมด

Advertisment