เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย Mr. Georg Schmidt พร้อมด้วย หอการค้าเยอรมันไทย (GTCC) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และคณะผู้บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ชื่นชมความสำเร็จโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ จ.อุบลราชธานี หลังนำคณะ หอการค้าเยอรมันไทย (GTCC) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และคณะผู้บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด เยี่ยมชมโครงการ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาโดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ


โดย Mr.Georg Schmidt (มิสเตอร์ เกออร์ก ชมิดท์) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรที่ ช่วยผลิตพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ และเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ยังได้แสดงความประทับใจในการนำนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำมาผสมผสานกันผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพได้ตลอดเวลา ว่า “เทคโนโลยีของบริษัทเยอรมันมีส่วนช่วยให้เรานำพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยประเทศเยอรมนีพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยีกับประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปี เราร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาและความยั่งยืน โครงการดังกล่าวนับเป็นความร่วมมือล่าสุดสำหรับความสัมพันธ์ด้านพลังงานของเรา”

ด้านนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. ได้นำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำมาผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร เพื่อลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนั้น กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน โดยผลักดันโรงไฟฟ้าให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวมอีกด้วย ซึ่งหลังจากเปิดให้เยี่ยมชมโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแล้วกว่า 420,000 ราย สร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ รวมมากกว่า 8.3 ล้านบาท

Dr.Thai-Lai Pham (ดอกเตอร์ ไท ไล ฟาม) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ อาเซียน กล่าวแสดงความยินดีที่โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดประสบผลสำเร็จ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งบริษัท ซีเมนส์ จำกัด รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญนี้ ด้วยการนำเทคโนโลยี ทั้ง “Microgrid Control” “Photovoltaic Plant Control” และ “Distributed Energy Optimization (DEOP)” มาช่วยจัดการพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำจากเขื่อน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพ ประสิทธิภาพและความสมดุลให้กับระบบไฟฟ้า

ทั้งนี้ จากความสำเร็จของโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร กฟผ. จึงได้เตรียมพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. ทั้ง 9 เขื่อนทั่วประเทศ รวม 16 โครงการอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ โดยโครงการถัดไปคือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ปลายปี 2566 โดยจะต่อยอดเพิ่มเสถียรภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System – BESS) เข้าไปในระบบผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด ซึ่งจะส่งผลให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น