ทำไมต้องให้ กฟผ. นำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน?

2532
- Advertisment-

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพลังงานตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ในกำกับดูแล และมีความพร้อมด้านงบประมาณ องค์ความรู้ และบุคคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ดำเนินโครงการนำร่องใน 2 พื้นที่ คือที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ใช้ซังข้าวโพดและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ เป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 2-3 เมกะวัตต์ และ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ใช้ พืชพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า

กระทรวงพลังงานมีความคาดหวังให้ประชาชนได้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากผลสำเร็จของโครงการ จึงให้ กฟผ. นำร่องสร้างโมเดลตัวอย่างของโรงไฟฟ้าชุมชน ก่อนที่จะขยายผลไปดำเนินการต่อในพื้นที่ต่างๆที่มีความพร้อม  โดยเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน ต้องการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศในช่วงเริ่มต้นภายในปี 2565 ประมาณ 700 เมกะวัตต์ และขยับเพิ่มเป็น 1,993 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

โดยโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนของ กฟผ. ถูกออกแบบให้ต้องตอบโจทย์วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการ 4 ข้อ คือ 1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 2. การผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์ขององค์กรในการสร้างชุมชนและสังคมไทยให้เข้มแข็ง ด้วยวิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise) ตามคำแนะนำของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 3. การช่วยเหลือดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และ 4. การสร้างอาชีพ รายได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

- Advertisment -

โครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว โดยจะดำเนินการให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 1 ปี หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ซึ่งทั้งในส่วนของโครงการที่แม่แจ่ม และทับสะแก จะเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามาร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 10% เมื่อเริ่มต้นโครงการ และจะเปิดให้ถือหุ้นเพิ่มได้ถึง 40% ในอนาคต โดยใช้ผลกำไรที่วิสาหกิจชุมชนได้รับ มาซื้อหุ้น เพื่อให้ชุมชนได้ร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า

ชุมชนก็จะมีรายได้ทันทีเมื่อเริ่มโครงการ ทั้งจากการจ้างงานในโรงไฟฟ้า การเป็นคู่สัญญาในการส่งป้อนเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้า และการแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้น เพื่อนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาฟื้นฟูท้องถิ่นในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า

ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และภาวะเศรษฐกิจของคนในชุมชนซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ กฟผ. กำลังเตรียมพร้อมนำร่องอยู่ในขณะนี้ จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะสร้างการจ้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งรอเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศ Kick Off สั่งการให้เดินหน้าโครงการเท่านั้น!

Advertisment