ทช. เชฟรอน จุฬาฯ นำร่องสร้างปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม

642
(จากซ้าย) นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรศ. ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Advertisment-

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เลือกพื้นที่ใกล้เกาะพะงัน นำร่องสร้างปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเป็นครั้งแรกในประเทศ หวังฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมติดตามประเมินผล 2 ระยะ รวม 6 ปี ก่อนที่จะพิจารณาขยายผลการดำเนินการในจุดพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต

โครงการนำร่องสร้างปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม ดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561 และได้รับงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่ในอ่าวไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทาง ทช. เชฟรอน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนอกจากเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำต่อแนวปะการังธรรมชาติ แล้วยังจะมีการประเมินศักยภาพ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดสร้างแหล่งปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

- Advertisment -

ทั้งนี้ ขาแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้ง 8 ชุด ซึ่งจะถูกขนย้ายจากพื้นที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมของทางเชฟรอน นั้น ทาง ทช. จะพิจารณาเลือกเฉพาะขาแท่นที่เป็นเหล็กกล้า  ซึ่งไม่มีส่วนสัมผัสปิโตรเลียมมาก่อน โดยส่วนบนของขาแท่นอยู่ระหว่าง 7.5-15 เมตร และฐานกว้าง 20-33 เมตร ความสูงจากพื้นถึงผิวน้ำตั้งแต่ 55-80 เมตร (ไม่รวมส่วนที่พ้นน้ำ) น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 300-700 ตัน (ไม่รวมโครงสร้างส่วนบนและน้ำหนักของสิ่งมีชีวิตที่เกาะติด) โดยพื้นที่สำหรับจัดวางปะการังเทียม อยู่ในจุดระดับความลึกประมาณ 40 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด ขนาดพื้นที่ประมาณ 0.07 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากเกาะพะงันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 8 ไมล์ทะเล และจากหินใบไปทางตะวันออกประมาณ 7 ไมล์ทะเล

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรม ทช. และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการเดินทางไปดูงานเกี่ยวกับการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมมาสร้างเป็นปะการังเทียมแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จ จึงมีความมั่นใจว่า ถึงแม้จะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะเริ่มนำร่องใช้ขาแท่นผลิตปิโตรเลียมมาใช้สร้างปะการังเทียม แต่กรม ทช. ก็ได้มีการทำการศึกษาในทุกมิติแล้ว

โดยในประเด็นเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยในการย้ายขาแท่นเพื่อจัดสร้างแหล่งปะการังเทียม นั้น ทาง ทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนงานเพื่อลดผลกระทบช่วงการขนส่งและจัดวาง โดยมีการสำรวจเส้นทางการลากจูง และลากจูงขาแท่นเหนือพื้นทะเลมากกว่า 10 เมตร โดยในช่วงที่ต้องผ่านจุดท่อขนส่งปิโตรเลียมและเคเบิ้ลใต้น้ำ จะมีการดำเนินการตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   มีการติดทุ่นแสดงตำแหน่งปะการังเทียมให้ชัดเจน และแจ้งตำแหน่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง

ในขณะที่ภาพรวมการติดตามตรวจสอบภายหลังการวางปะการังเทียมนั้นดูทั้งสภาพทั่วไปของปะการังเทียม คุณภาพน้ำทะเล คุณภาพตะกอนพื้นทะเล สัตว์พื้นทะเล แพลงก์ตอน (พืชและสัตว์)  สัตว์น้ำวัยอ่อน ชนิดและความชุกชุมของปลา สิ่งมีชีวิตเกาะติดปะการังเทียม  การใช้ประโยชน์ในพื้นที่  การเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

ส่วนขอบเขตความร่วมมือของทั้งสามฝ่ายในโครงการดังกล่าวนั้น ทางกรม ทช. จะเป็นผู้ดำเนินงาน กำกับการดำเนินงาน ติดตามประเมิน และดูแลพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตจัดวางปะการังเทียมตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ส่วนเชฟรอน จะเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับกรม ทช. พร้อมทั้งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 8 ขาแท่น ให้แก่กรม ทช. เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุในการจัดทำเป็นปะการังเทียม รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านการจัดวางและงบประมาณของโครงการฯ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการและสนับสนุนงานด้านการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ”

นายจตุพร กล่าวว่าหากโครงการนำร่องที่เกาะพะงัน ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ กรม ทช. ก็จะพิจารณาขยายผลการสร้างปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลา 56 ปี ของการดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับประเทศ เรายังมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทยในทุกๆ ด้าน รวมถึงการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการศึกษา จะช่วยให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม มาจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน

โดยดำเนินการในพื้นที่เกาะพะงัน ซึ่งเคยมีโครงการต้นแบบในการวางโครงสร้างเหล็ก ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ ของเกาะพะงัน มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ซึ่งพบว่ามีความเหมาะสมในการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว และการประมง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

สำหรับการดำเนินโครงการนี้จะ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะแรกซึ่งใช้เวลา 2 ปี จะเป็นการศึกษาทางด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา การติดตามผลกระทบจากการวางปะการังเทียม การประกาศพื้นที่คุ้มครองเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่คุ้มครองนี้ ส่วนระยะที่สอง ซึ่งใช้เวลา 4 ปี จะเป็นการติดตามต่อเนื่องจากระยะแรกเพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอยู่อาศัยในแนวปะการัง และการเข้าใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้วงเงินสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ทั้งสิ้น 34.8 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการวางแผน และการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตเพื่อนำไปทำปะการังเทียม)

ด้าน รศ. ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า  ในการศึกษา ติดตาม และตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ในทะเล และประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปะการังเทียม และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผลจากการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยให้หน่วยราชการและหน่วยงานวิชาการ ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนงานและการจัดการปะการังเทียม ไม่เพียงเฉพาะจากโครงสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น แต่อาจรวมถึงการจัดการในภาพใหญ่ระดับประเทศด้วย”

ปะการังเทียมแบบต่างๆ
Advertisment