ถึงเวลาทบทวน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562

300
- Advertisment-

ในการเสวนาเรื่อง “บทบาทกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบัน – อนาคต” เมื่อเร็วๆนี้ โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงพลังงานมายาวนานได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอนาคตที่ควรจะเป็น โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งได้ใช้ในการบริหารจัดการสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันภายในประเทศมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว อาจต้องมีการทบทวนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน

นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า น้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนที่จะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ทำอย่างไรจึงจะมีความเหมาะสมในการขยับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนแท้จริงมากขึ้น ซึ่งขณะนี้เพดานราคาดีเซลตรึงอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาท/กก. หากไม่มีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงราคาตลาดจะอยู่ที่ราว 35 บาท/ลิตร ซึ่งการขยับขึ้นราคาควรขึ้นแบบเป็นขั้นตอน และต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบและค่อยๆ ปรับตัว ในด้านเศรษฐศาสตร์จะมีความสัมพันธ์กันจริงๆ ระหว่างราคากับการใช้ ถ้าแพงก็ทำให้มีการใช้น้อยลง และมีความตระหนักในการใช้อย่างประหยัดมากขึ้นซึ่งจะเป็นไปโดยธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทุนน้ำมันฯ ยังต้องมีบทบาทในการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนด้อยโอกาส  และเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดจากที่เคยมีบทเรียนมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดยอาจปรับปรุง พ.ร.บ.ฯ เพื่อให้เกิดการใช้อุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจงจริงๆ ปัญหาที่เคยประสบมาเช่นวงเงินจัดเก็บเข้ากองทุน 40,000 ล้านบาทไม่เพียงพอก็น่าจะปรับแก้เพื่อให้สะท้อนการทำงานของกองทุนน้ำมันได้ตรงตามวัตถุประสงค์ สามารถบริหารจัดการให้การอุดหนุนราคาเข้าถึงกลุ่มคนที่เขาต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นความสามารถที่จะแข่งขันได้จริงในระดับประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่เท่าไหร่ อาจจะต้องมีตัวเลขที่สัมพันธ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต สัมพันธ์กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ใช้ในการแข่งขันด้านการส่งออกหรือการดำเนินธุรกิจในประเทศ

- Advertisment -
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อดีตผู้อำนวยการ สกนช.คนแรก กล่าวให้ความเห็นว่า กองทุนน้ำมันฯ ยังมีประโยชน์และควรคงการมีอยู่ของกองทุนน้ำมันฯไว้ เพียงแต่ว่าต้องให้มีความชัดเจนในการใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกอุดหนุนราคาว่าควรช่วยในระยะสั้นเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันปรับสูงจนกระทบค่าครองชีพประชาชน อาจวางระยะเวลาไว้ 3-4 เดือน หากตกลงกติกาในลักษณะนี้ได้ก็จะส่งผลดีต่อฐานะกองทุนน้ำมันฯ ในระยะยาว ซึ่งขณะนี้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบมากกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว บทบาทของกองทุนน้ำมันฯ จึงเป็นเรื่องของระยะเวลาในการให้การอุดหนุนที่ควรมีลักษณะชั่วคราว รวมทั้งอาจต้องพิจารณาอย่างจริงจังในการให้ความช่วยเหลือเป็นรายเซ็กเตอร์ เป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะทำให้กองทุนไม่ต้องแบกภาระมากนักมีสภาพคล่องไว้ใช้จ่ายในยามเกิดวิกฤตพลังงาน และที่สำคัญประเทศควรจะก้าวข้ามราคาดีเซลที่มีฐานอยู่ที่ 30 บาท/ลิตรได้แล้ว เพราะตัวเลขนี้ใช้มาตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ความเห็นข้างต้นนี้ สอดคล้องกับคำกล่าวของนายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ได้กล่าวไว้ว่าสถานการณ์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนี้เรียกว่า “วิกฤตการณ์ด้านสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ความหมายคือ การชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเวลานานเกินไป ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้หากยังไม่มีแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขที่ถูกวิธี

อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างการแก้ปัญหาราคาพลังงานแพงในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เมื่อประสบปัญหาราคาน้ำมันประเทศเหล่านี้ต่างก็ปรับตัวโดยหันมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้เกิดการใช้พลังงานน้อยลง แต่สำหรับประเทศเรายังไม่ได้ปรับตัวเรื่องนี้มากนัก

Advertisment