ตามไปดูนโยบายพลังงานพรรคการเมือง ชูลดราคาน้ำมัน ปั้นพลังงานทดแทน

2341
- Advertisment-

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่างๆ ก็เร่งเดินสายหาเสียงแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรคกันอย่างคึกคัก ผู้นำหรือคีย์แมนของพรรคใหญ่ๆ ขนนโยบายมาร่วมดีเบตในเวทีต่างๆ โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการนำเสนอกันอย่างเข้มข้น เพื่อเรียกคะแนนเสียงและคะแนนนิยมจากประชาชนที่ต้องการรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ และการบรรเทาภาระค่าครองชีพ ที่นับวันมีแต่จะพุ่งสูงขึ้น

สำหรับนโยบายด้านพลังงาน ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งต่อปากท้องประชาชนโดยตรง และต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้น พบว่าพรรคการเมืองหลายๆ พรรค เสนอแนวทางการปฏิรูปและปรับโครงสร้างพลังงาน ลดราคา-เลิกผูกขาดน้ำมัน รวมถึงคัดค้านถ่านหิน และส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน – Energy News Center (ENC)  ได้ติดตามและรวบรวมบางส่วนมานำเสนอ ดังนี้

พลังประชารัฐ ชวนขับ EV ลดฝุ่นพิษ

- Advertisment -

เริ่มที่ พรรคน้องใหม่แต่ทีมงานไม่ใหม่ เพราะมีรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ในพรรคนี้ด้วย คือ พรรคพลังประชารัฐ โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ชู 3 นโยบายลดปัญหามลภาวะในกรุงเทพฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การส่งเสริมให้ใช้รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งรถเมล์ รถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน จะช่วยลดฝุ่นควัน ลดมลพิษ เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีของคนกรุงเทพฯ ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรค กล่าวว่า ในระยะแรกพรรคพลังประชารัฐจะออกนโยบาย “เอารถเก่ามาแลก EV ได้ส่วนลด 1 แสนบาท” พร้อมกับจะศึกษาเรื่องภาษีของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยตั้งเป้าทำให้รถ EV มีราคาถูกกว่ารถพลังงานปกติ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้รถ EV มากขึ้น

เพื่อไทย เพิ่มใช้พลังงานหมุนเวียนเชิงพาณิชย์

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย พรรคฐานเสียงสำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นำเสนอนโยบายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ปรับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค พัฒนาเทคโนโลยีเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกโดยร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ แคนดิเดตนายก พรรคเพื่อไทย กล่าวในการสัมภาษณ์กับสื่อ The Standard ว่าภาคอุตสาหกรรมพลังงานที่ไทยควรให้ความสำคัญ คือ EV แบตเตอรี่ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศพัฒนาไปไม่ห่างกันนัก (ยังแข่งขันได้) นอกจากนั้น นายปลอดประสพ สุรัสวดี แกนนำพรรค กล่าวว่า จะผลักดันพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน ให้ได้กิโลกรัมละ 4.50 บาท ด้วยการนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล เป็นต้น

ประชาธิปัตย์ ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปลี่ยนรถเมล์เป็น Smart Bus

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่เคยครองฐานคะแนนคนกรุงและภาคใต้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นำเสนอนโยบาย Smart Bus เปลี่ยนรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งระบบ จำนวน 5,000 คัน ภายใน 7 ปี สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวนิช และนายเกียรติ สิทธีอมร ย้ำจุดยืนของพรรค คือ ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอให้โรงไฟฟ้ากระบี่ ศึกษาการใช้น้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้า ขณะที่เทพาให้ตั้งโรงไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แทน รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมครัวเรือนใช้พลังงานจากโซลาร์รูฟท็อป

ชาติพัฒนา ดันอีสานเป็นพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทน

พรรคชาติพัฒนา โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ชูนโยบาย Smart Energy ส่งเสริมพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อลดต้นทุน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แทนพลังงานจากฟอสซิล เช่น แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน โดยจะให้ภาคอีสานเป็นพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญ ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นเอทานอลผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จนถึงระดับ E85 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายพัฒนาโครงข่าย Smart Grid เพื่อส่งเสริมให้ทุกหลังคาเรือนมีโซลาร์รูฟท็อปเพื่อมีไฟฟ้าใช้เอง และขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบโครงข่ายของประเทศ และจัดตั้งกองทุนโซลาร์รูฟท็อป วงเงิน 5,000 ล้านบาท ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศอย่างจริงจัง ปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาระบบการผลิตน้ำมันยูโร 5 เพื่อลดปัญหามลพิษและฝุ่นละออง เป็นต้น

ภูมิใจไทย ชูใช้ปาล์มผลิตไฟฟ้า

พรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค มีนโยบายเปลี่ยนสวนปาล์มเป็นบ่อน้ำมัน สร้างโรงไฟฟ้าน้ำมันปาล์ม ผลักดันราคาปาล์มทะลาย กิโลกรัมละ 5 บาท โดยการสนับสนุนให้นำพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน มาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พลังธรรมใหม่ ยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ

ด้าน พรรคพลังธรรมใหม่ โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรค ย้ำนโยบายการลดราคาน้ำมัน ลิตรละ 5 บาท และก๊าซหุงต้ม (LPG) ขนาด 15 กิโลกรม เหลือ 250 บาทต่อถัง รวมทั้งการยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ภายใน 15 วัน หลังจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่าเป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างน้อยคนไทยที่มีทรัพยากรน้ำมันอยู่ในมือจะไม่ต้องใช้น้ำมันราคาแพงเสมือนไปซื้อมาจากต่างชาติอีกต่อไป ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลงได้ในที่สุด รวมถึงยกเลิกสัมปทานพลังงาน

เสนอลดเก็บภาษีสรรพสามิต หั่นราคาน้ำมัน เปลี่ยนใช้รถไฟฟ้า

หลาย ๆ พรรคเสนอนโยบายลดราคาน้ำมัน การลดภาษีสรรพสามิตที่อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันลง โดยพรรคเศรษฐกิจใหม่ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เสนอนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการลดราคาน้ำมันและลดค่าไฟฟ้าลง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุน แต่จะใช้วิธีลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงประมาณ 10 บาทต่อลิตร ส่วนค่าไฟฟ้า จะให้ลดลงประมาณ 1 บาทต่อหน่วย จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3.50 บาทต่อหน่วย โดยคาดว่า หากราคาน้ำมันและราคาค่าไฟฟ้าลดลงแล้ว จะทำให้ต้นทุนทั้งด้านขนส่งและด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะลดลงตามไปด้วย และกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจให้นักลงทุนจากทั่วโลก เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนรายได้ของภาครัฐที่จะหายไปจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันนั้น ก็จะหาเงินรายได้จากทางอื่นมาทดแทน

พรรคประชาชาติ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค หวังมาช่วงชิงคะแนนเสียงในภาคใต้ แม้จะไม่เห็นนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจน แต่ก็สนับสนุนนโยบายปรับลดราคาพลังงาน โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้ความเห็นว่า ภาษีสรรพสามิตน้ำมันในที่สุดจะต้องปรับลดลง จากการมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลง และยังมองว่าปัจจุบัน การเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ถูกนำไปใช้เพื่อคนทั้งประเทศ ทั้งที่ควรช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ประกาศนโยบายด้านพลังงานอย่างชัดเจน แต่หนึ่งในนโยบายเสาหลักที่พรรคประกาศไว้ คือการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เปลี่ยนไปเป็นรถเมล์ที่ใช้ไฟฟ้า สร้างเศรษฐกิจด้วยรถเมล์ไฟฟ้า

ส่วน พรรคไทยรักษาชาติ ที่ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรค ฐานการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จากกรณีเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในช่วงหาเสียง พรรคไทยรักษาชาติ ประกาศนโยบายปฏิรูปโครงราคาสร้างพลังงาน ลดราคาน้ำมัน  โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ อดีต รมว.พลังงาน เสนอให้ลดราคาน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท ด้วยการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่สูงกว่า 5.92 บาทต่อลิตร ลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นด้วยการยกเลิกค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย ลดค่าการตลาด และลดราคาแก๊สโซฮอล์ ลิตรละ 3 บาท ด้วยการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และลดราคาเอทานอลที่ผสมในแก๊สโซฮอล์ให้เท่ากับราคาเอทานอลในตลาดโลก ซึ่งจะสามารถทำได้ทันทีหลังการจัดตั้งรัฐบาลภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยกเลิกการผูกขาดในกิจการพลังงาน อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องถูกยุบพรรค จึงต้องติดตามดูว่าจะสามารถผลักดันนโยบายดังกล่าวต่อไปทางใด

เห็นภาพรวมนโยบายพลังงานของพรรคการเมืองต่างๆ กันไปแล้ว ก็คงต้องลุ้นต่อว่าพรรคไหนจะได้รับเลือกตั้งและได้ร่วมเป็นรัฐบาล ซึ่งหากเป็นฝั่งที่ชูนโยบายลดราคาน้ำมัน ก็อาจจะถูกใจหลายๆคน ที่จะได้ใช้น้ำมันราคาถูกลง แต่ผลที่ตามมาคือรัฐมีรายได้ลดลงจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และจะหารายได้จากไหนมาโปะแทน นอกจากนั้น เมื่อราคาน้ำมันถูกลง อาจกระตุ้นการใช้อย่างไม่ประหยัด ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นมากขึ้น จึงหวังว่าหากจะมีการลดราคาน้ำมันจริงๆ รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ส่วนการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น พรรคที่ชูนโยบายดังกล่าว คงต้องกางแผนให้ดูกันชัดๆ ว่าจะไปในทิศทางใด เพื่อที่ยังคงรักษาสมดุลพลังงานได้อย่างเหมาะสม

***ขอบคุณภาพจาก Facebook ของพรรคการเมืองที่กล่าวถึง

Advertisment