ตามรอยพ่อฯปีที่8 สร้างพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นาขาวัง ที่ ฉะเชิงเทรา

1097
- Advertisment-

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 8 จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ย.2563 ระดมอาสาสมัครเกือบ 400 คน สร้างพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นาขาวัง แบบกสิกรรมธรรมชาติ ณ ต.คลองบ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาวลุ่มน้ำบางปะกงในการจัดการพื้นที่กสิกรรมในระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ที่ประยุกต์เข้ากับการทำโคก หนอง นา ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำบางปะกง แหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศ และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยมีการวางมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) อย่างเข้มข้น

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อตอกย้ำว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอดจากทุกวิกฤต

- Advertisment -

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงความสำคัญในการเลือก จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตั้งอยู่บนลุ่มน้ำบางปะกงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมว่า ฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ โดยพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะกับการทำเกษตร ด้วยแม่น้ำบางปะกงได้พัดพาดินตะกอนมาทับถมเป็นเวลานาน ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย

ที่ อ.บางปะกง โดยประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม คือ การทำนา ทำไร่ ทำสวนผลไม้ยืนต้น และมีการทำนาขาวังที่เป็นเอกลักษณ์ อยู่ที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง

สำหรับการทำ ‘นาขาวัง’ เป็นรูปแบบการทำนาในระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เรียนรู้กลไกธรรมชาติของน้ำขึ้น น้ำลง โดยทำนาข้าวในฤดูฝน ส่วนในฤดูแล้งก็จะปล่อยน้ำเค็มให้ไหลเข้ามาในนาเพื่อเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา คำว่า ‘ขาวัง’ คือ ร่องน้ำรอบแปลงนา เป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวนา ซึ่งปัจจุบันเหลือพื้นที่ทำนาขาวังเพียงแค่ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เท่านั้น กิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้เป็นการสร้างต้นแบบนาขาวัง ที่ประยุกต์เข้ากับการทำโคก หนอง นา ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการสร้างความมั่งคั่งทางอาหารอย่างยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา ตลอดจนอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาบรรพชนไม่ให้สูญหาย”

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของกิจกรรมเอามื้อสามัคคีว่า “กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกือบ 400 คน จากสมาชิกเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้สมัครร่วมกิจกรรมทางเฟซบุ๊กโครงการตามรอยพ่อฯ และพนักงานของเชฟรอน เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นาขาวัง แบบกสิกรรมธรรมชาติ บนพื้นที่ของนายชัชวาล เกษมสุข ที่ ต.คลองบ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ ขุดคลองไส้ไก่ ปลูกแฝก ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพาะผัก ห่มดินแห้งชามน้ำชาม ปล่อยพันธุ์ปลา เป็นต้น โดยมีวิทยากรจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ รวมถึง ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) สาธิตและให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งคาดหวังว่ากิจกรรมการสร้างพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นาขาวัง แบบกสิกรรมธรรมชาติแห่งแรกใน อ.บ้านโพธิ์นี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชามาปรับใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป”

Advertisment