ตอบข้อสงสัย ทำไมแอลกอฮอล์ล้างมือจึงแพงกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์หลายเท่า?

6299
- Advertisment-

ตอบข้อสงสัย ทำไมแอลกอฮอล์ล้างมือจึงแพงกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์หลายเท่า?

ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงและวิจารณ์กันมากในโซเชียลมีเดียตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามที่จะอธิบายแล้ว แต่หลายคนก็ยังคงคาใจ คือเรื่องที่ว่า “ทำไมราคาแอลกอฮอล์ล้างมือ จึงแพงว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตั้งหลายเท่า?”   โดยเฉพาะราคาแก๊สโซฮอล์ E85 ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ถึง 85% ราคาน่าจะใกล้เคียงกันมิใช่หรือ? เพราะแอลกอฮอล์ที่ใช้ผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง กับที่นำมาใช้ทำความสะอาดมือในช่วง COVID-19 ระบาดนี้ ต่างก็คือเอทิลแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล ที่ส่วนใหญ่ผลิตจากกากน้ำตาล (Molasses) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลจากอ้อย เหมือนๆ กัน

ความจริงคือ ถึงจะเป็นเอทิลแอลกอฮอล์เหมือนกัน แต่มีคุณสมบัติบางอย่างไม่เหมือนกัน ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้!! 

- Advertisment -

นั่นคือ แอลกอฮอล์ที่นำไปเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง กับ ที่นำมาเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือหรือทำความสะอาด จะผ่านกระบวนการผลิตบางส่วนที่แตกต่างกัน เพื่อให้แอลกอฮอล์มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ ดังนั้นจึงมี ต้นทุนในการดำเนินการไม่เท่ากัน  

สำหรับแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้สำหรับล้างมือป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีความเข้มข้น 70-90% โดยปริมาตร (มีน้ำเป็นส่วนผสม 10-30% แล้วแต่สูตร เพื่อให้เจือจางไม่ระคายผิว และมีระยะเวลาการระเหยที่ไม่เร็วเกินไป มีประสิทธิภาพ ในการฆ่าเชื้อโรค) โดยต้องผ่านกระบวนการกลั่นหลายขั้นตอนเพื่อดึงเอาสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ออก เพื่อให้ได้ค่าความบริสุทธิ์   ที่สูงเพียงพอสำหรับมาตรฐานที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ที่เรียกว่า Food Grade หรือ สำหรับอุตสาหกรรมยา  Pharmaceutical  Grade เรียกง่ายๆ ว่าเป็นแอลกอฮอล์เกรดดี จึงมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าเกรดที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาก  

ส่วนแอลกอฮอล์ที่ผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น จะมีความเข้มข้นมากถึง 99.5% (คือมีน้ำเป็นส่วนประกอบเพียง 0.5% เพราะหากมากกว่านี้ อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้) แต่ความบริสุทธิ์มีไม่มากเท่ากับแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำความสะอาดมือ…เรียกว่าบริสุทธิ์น้อยกว่ามาก…เพราะเป็นเกรดเชื้อเพลิง ไม่ใช่ Food Grade หรือ Pharmaceutical Grade จึงอาจยังมีสารปนเปื้อน สารตกค้าง โลหะ หรือ สารพิษเจือปน ซึ่งอาจเป็นอันตราย หรือ เกิดการระคายเคืองหากนำมาใช้กับคน อีกทั้งการที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้น ระเหยไว จึงไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค แต่ไม่มีปัญหาเมื่อนำไปผสมในน้ำมันเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งก่อนนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง ยังต้องทำการแปลงสภาพ (denatured) โดยการเติมสารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพิษต่อรางกาย

นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ที่ผลิตสำหรับทำความสะอาดมือ ยังต้องมีต้นทุนในเรื่องของสารที่ใส่เพิ่มเข้ามาให้เหมาะกับการบริโภค เช่น สารถนอมผิวและน้ำหอม รวมถึงต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การกระจายสินค้า และค่าการตลาด และหากต้องผ่านบรรดาพ่อค้าส่ง พ่อค้าขายปลีกหลายทอด ราคาก็จะถูกอัพเพิ่มขึ้นไปอีก

นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแอลกอฮอล์ล้างมือที่เห็นขายกันอยู่ทางออนไลน์ตอนนี้ จึงมีราคาสูงถึงลิตรละ 250-350 บาท ในขณะที่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 (น้ำมันที่มีส่วนผสมของเบนซินพื้นฐาน 15% และ เอทิลแอลกอฮอล์ สัดส่วน 85% ในทุกลิตร) ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบ นั้น มีราคาจำหน่าย ณ วันที่ 7 เม.ย. 2563 เพียงลิตรละ 14.84 บาท เพราะเอทิลแอลกอฮอล์ที่นำมาเป็นส่วนผสมนั้น ถือเป็นแอลกอฮอล์คนละเกรด และมีสิ่งเจือปนมากกว่า เนื่องจากมีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการนำไปเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์

นอกจากใช้แอลกอฮอล์คนละเกรดเป็นส่วนผสมแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้แก๊สโซฮอล์ E85 สามารถขายถูกที่ลิตรละ 14.84 บาทได้ ก็เนื่องจากรัฐเอาเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้ถึงลิตรละประมาณ 7 บาท ตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน และนโยบายส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เกิดขึ้นในยุคที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งทะยาน เมื่อผสมเอทานอลเข้าไปก็ช่วยให้ราคาน้ำมันขณะนั้นถูกลง

Icon made by Pixel perfect from www.flaticon.com

ปัจจุบันผู้ที่ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ ที่มาจากการนำเอากากน้ำตาล หรือ โมลาส มาผ่านกระบวนการหมักด้วยยีสต์และกลั่นในโรงงานผลิตซึ่งเป็นเกรดที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและยา มีเพียงองค์การสุรา ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง กำลังการผลิตวันละ 6 หมื่นลิตร ส่วนโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ 7 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต กำลังผลิตรวม 3.8 แสนลิตรต่อวัน เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น ในขณะที่โรงงานผลิตเอทานอลจำนวน 26 แห่ง กำลังการผลิตรวม 6.95 ล้านลิตรต่อวัน นั้น แต่เดิมได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือยังหาซื้อได้ยาก ก็เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม เพราะเกี่ยวข้องกับการผลิตสุรา ฉะนั้น ในการซื้อขายหรือขนส่งแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตก่อนเสมอ และด้วยขั้นตอนต่างๆที่ยุ่งยาก จึงทำให้ช่วงที่ผ่านมามีแอลกอฮอล์ออกสู่ตลาดไม่ทันต่อความต้องการ

แต่หลังจากที่รัฐปลดล็อกเป็นการชั่วคราวให้นำเอทิลแอลกอฮอล์จาก 26 โรงงานเอทานอลที่เดิมจะต้องส่งไปผสมกับน้ำมันเบนซินเพื่อเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น มาผลิตต่อเพื่อให้ได้ค่าความบริสุทธิ์ หรือ impurity ที่สูงขึ้นสำหรับทำแอลกอฮอล์ล้างมือได้

โดยจากนโยบายดังกล่าว ทำให้ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ โออาร์  และ บางจาก ได้ออกมาช่วยเหลือ โดยการเร่งผลิตแอลกออฮอล์เพื่อการจำหน่ายในราคาพิเศษ ผ่านปั๊มน้ำมัน โดยเริ่มทยอยออกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังจำกัดสิทธิให้ซื้อได้ 1 คน ต่อ 1 ขวด เพราะสินค้ายังมีจำนวนจำกัด  โดยโออาร์ นั้นจำหน่ายขวดบรรจุ 1 ลิตร ที่ราคาขวดละ 110 บาท ต่ำกว่าราคาที่ขายทั่วไปอยู่มากพอสมควร ส่วนบางจากจำหน่ายขนาดขวดบรรจุ 500 มิลลิลิตร ที่ราคาขวดละ 50 บาท  ซึ่งถูกกว่า โออาร์เล็กน้อย (น่าจะเนื่องจากบางจากมีบริษัทในกลุ่มที่ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์เป็นของตัวเอง ในขณะที่โออาร์ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง ต้องไปจัดหาซื้อมาจากผู้ผลิตและจัดส่งไปจำหน่ายยังสถานีบริการต่างๆ จึงอาจมีต้นทุนสูงกว่า)

จากนโยบายผ่อนคลายเรื่องแอลกอฮอล์ของภาครัฐ และความร่วมมือของภาคเอกชนที่พยายามผลิตแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือออกสู่ตลาดเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ก็ดูเหมือนว่าแอลกอฮอล์ทางการแพทย์สำหรับทำความสะอาดมือ และแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวเพื่อป้องกันเชื้อ COVID-19 จะออกสู่ตลาดมากขึ้นในอนาคต และน่าจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายโดยทั่วๆ ไปถูกลงได้อีก ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อความพยายามในการป้องกันและลดการระบาดของ COVID-19 ลงได้

*ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก องค์การสุรา https://www.liquor.or.th/

Advertisment