สรุป 2 เดือน(มี.ค-เม.ย.63)ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินในประเทศลดแล้ว 15 ครั้งรวม 8.6 บาทต่อลิตร และดีเซลลด 17 ครั้ง รวม 8.7 บาทต่อลิตร ขณะที่การปรับขึ้นราคา กลุ่มเบนซินมีการปรับขึ้นเพียง 2 ครั้งรวม 1 บาทต่อลิตร และดีเซลปรับขึ้นครั้งแรก 30 สตางค์ต่อลิตร ในวันพรุ่งนี้(1 พ.ค.2563) ราคาเบนซินจะขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตรและดีเซลขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แจ้งปรับขึ้นราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล 30 สตางค์ต่อลิตร และกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นแก๊สโซฮอล์E85 ปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร มีผล ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
โดยราคาเบนซิน อยู่ที่ 24.86 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์95 อยู่ที่ 17.45 บาทต่อลิตร,แก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 15.94 บาทต่อลิตร , แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 17.18 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์
E85 อยู่ที่ 15.34 บาทต่อลิตร , ดีเซล อยู่ที่ 17.69 บาทต่อลิตร, ดีเซลB10 อยู่ที่ 14.69 บาทต่อลิตร, ดีเซลB20 อยู่ที่ 14.44 บาทต่อลิตร และดีเซลพรีเมี่ยม อยู่ที่ 21.54 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาน้ำมันในครั้งนี้ นับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน (มี.ค.-เม.ย.2563) นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันโลกตกต่ำต่อเนื่อง จากความล้มเหลวในข้อตกลงลดกำลังผลิตน้ำมันระหว่างกลุ่มประเทศโอเปกและรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 และปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (มี.ค.-เม.ย. 2563) มีการปรับลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน รวม 15 ครั้ง เป็นเงินรวม 8.6 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซลลดลง 17 ครั้ง เป็นเงินรวม 8.7 บาทต่อลิตร และมีการปรับขึ้นราคาเบนซิน 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 1 บาทต่อลิตร และดีเซลปรับขึ้น 1 ครั้ง เป็นเงินรวม 30 สตางค์ต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะเดือนมี.ค. 2563 มีการปรับลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินรวม 12 ครั้ง เป็นเงิน 7.1 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลลดลง 11 ครั้ง เป็นเงิน 5.6 บาทต่อลิตร ส่วนเดือนเม.ย.2563 มีทั้งปรับขึ้นราคาและลดราคา โดยได้ปรับลดราคากลุ่มเบนซินรวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 1.5 บาทต่อลิตร และปรับขึ้นราคา 2 ครั้งเป็นเงิน 1 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซลปรับลด 6 ครั้ง เป็นเงิน 3.1 บาทต่อลิตร และปรับขึ้นราคาครั้งแรก 1 ครั้ง ในช่วง 2 เดือน เป็นเงิน 30 สตางค์ต่อลิตร
สำหรับสาเหตุที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลงต่อเนื่อง เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2562 ที่กำลังการผลิตน้ำมันเกินความต้องการใช้ของโลก ส่งผลให้กลุ่มโอเปกต้องลดกำลังการผลิตลง จนกระทั่งในเดือนธ.ค.2562 มีมติให้ลดกำลังการผลิตอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2563) เท่ากับว่าปริมาณการผลิตทั้งหมดจะลดลงอีก 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 1.7% ของกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมดในโลก
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลักได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศนอกโอเปกสามารถผลิตน้ำมันส่งออกได้ไม่จำกัดและสร้างรายได้จำนวนมากแทน ทำให้สมาชิกโอเปกไม่พอใจ
ต่อมาในช่วงเดือน ก.พ. 2563 ราคาน้ำมันยังคงร่วงลงต่อเนื่อง และถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงส่งผลให้กลุ่มโอเปก นำโดยซาอุฯ และชาติพันธมิตร นำโดยรัสเซีย จัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ธ.ค. 2563 พร้อมกับต้องการให้ประเทศพันธมิตรให้ความร่วมมือลดการผลิตน้ำมันลงอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่รัสเซียไม่เห็นด้วยและต้องการปรับลดการผลิตไปแค่ไตรมาส 2 ของปี 2563
เมื่อที่ประชุมตกลงกันไม่ได้รัสเซียจึงประกาศถอนตัว ไม่ทำตามข้อตกลงอีกต่อไป พร้อมกับเดินหน้าการผลิตเต็มสูบตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 นี้เป็นต้นไป ฝั่งประเทศซาอุดิอารเบีย ก็เดินหน้าตอบโต้รัสเซียทันที ด้วยการปรับลดราคาขายน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการ (OSP) ให้กับทุกทวีป เพื่อชิงส่วนแบ่งค้าน้ำมันจากรัสเซีย พร้อมกับประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบจาก 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มเป็น 11-12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป
ส่งผลให้ปริมาณการผลิตยิ่งล้นตลาด ประกอบกับปัญหา COVID-19 ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกร่วงหนักขึ้น จนกระทั่งน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส( WTI) ปิดเมื่อ 20 เม.ย.2563 ปรับลดลง 55.90 เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ -37.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นการติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุด หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้น 2.72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.06 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ ปรับขึ้น 2.08 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 22.54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลและดูไบปรับขึ้น 0.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 17.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
โดยราคาที่ผันผวนขึ้นในครั้งนี้เกิดจากการคลายความกังวลที่นานาประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น