“ดีพร้อม – GC” ร่วมมือปั้นไบโอพลาสติกสู่เชิงพาณิชย์ผลิตงานวิจัยใช้กากกัญชง ลดขยะอุตสาหกรรม

449
- Advertisment-

“ดีพร้อม – GC” ร่วมมือปั้นไบโอพลาสติกสู่เชิงพาณิชย์ผลิตงานวิจัยใช้กากกัญชง ลดขยะอุตสาหกรรม ภายใต้โมเดล Bio-Circular-Green

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พร้อมเชื่อมโยงการตลาดของเครือข่ายพันธมิตรทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ขับเคลื่อนเพื่อการลดปริมาณขยะพลาสติกและกากอุตสาหกรรม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) โดยใช้เส้นใยส่วนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปกัญชงเพื่อจัดการของเสียแบบขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) มาเพิ่มมูลค่าสู่ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการต่อยอดการวิจัยพัฒนาสูตรการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชกัญชงในเชิงพาณิชย์สู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) นั้นทาง ดีพร้อมจะรับบทบาทในการจัดหาเส้นใยกัญชงเพื่อเป็นวัสดุในการวิจัย พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงสำหรับธุรกิจที่สนใจ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย

- Advertisment -

นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านการบริหารการผลิต การแปรรูป รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสั้น หรือเส้นใยชีวภาพที่เหลือทิ้ง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุและลดปริมาณขยะในภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งปัจจุบันพบว่าการประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณกากอุตสาหกรรมชนิดไม่อันตรายเกิดขึ้น จำนวนมากกว่า 17 ล้านตันต่อปี (ที่มา : กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม) ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการดูแลและกำจัด หนึ่งในนั้น คือ ขยะพลาสติกที่มีจำนวน 4.8 ล้านตัน/ปี และจะมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น

​ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังกระบวนการแปรรูปเพื่อนำเส้นใยไปใช้ประโยชน์จะเกิด “เส้นใยสั้น”ซึ่งเป็นสิ่งเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปเฉลี่ยไร่ละประมาณ 400 กิโลกรัม ปัจจุบันมีการขออนุญาตเพาะปลูกจำนวนกว่า 631.9 ไร่ ปลูกได้กว่า 2 รอบต่อปี ดังนั้น จะมีเส้นใยเหลือเป็นขยะในภาคอุตสาหกรรมกว่า505,400 กิโลกรัมต่อปี และสอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ที่มีเนื้อหาสาระการห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงหิ้ว โฟม แก้ว และหลอดพลาสติกในปี 2565 นี้

​อย่างไรก็ดี การผนึกความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการเดินหน้านโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE)ซึ่งได้ออกแบบงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งแก้ปัญหาได้ตรงจุดให้กับอุตสาหกรรมพืชกัญชงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (C-Customization) อีกทั้งยังช่วยภาคเกษตรอุตสาหกรรมในการจัดหาวัตถุดิบในเชิงพื้นที่ และขยายช่องทางการเข้าถึงสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย (A-Accessibility) พร้อมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการซึ่งต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการดำเนินธุรกิจ (R-Reformation) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)ตลอดจนมีการเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ (E-Engagement) สะท้อนผลลัพธ์ไปสู่ศักยภาพของผู้ประกอบการในการต่อยอดอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละหน่วยงาน ผนวกกับประสบการณ์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้นำผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยการเชื่อมโยงการตลาด
และการประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพลาสติกชีวภาพในเครือข่ายพันธมิตรของดีพร้อมและบริษัทในเครือ ปตท.

ด้าน นายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC เปิดเผยว่า GC ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดจนเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพลำดับต้น ๆ ของโลก พร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดจากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากเส้นใยกัญชง ซึ่งนับเป็นเส้นใยชีวภาพที่มีศักยภาพในการนำไปใช้งาน

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ GC จะสนับสนุนเม็ดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic Compound) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพร่วมกับเส้นใยกัญชง อาทิ หลอดพลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมของเส้นใยกัญชง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต ที่จะช่วยลดขยะเส้นใยกัญชงเหลือทิ้งและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกัญชง

นอกจากนี้ GC หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการพืชกัญชงและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย ผ่านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและต่อยอดการพัฒนาธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

Advertisment