ซีอีโอใหม่ไทยออยล์ประกาศสานต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ต่อยอดสู่ปิโตรเคมี ธุรกิจใหม่ และไฟฟ้า

518
- Advertisment-

“บัณฑิต ธรรมประจำจิต” CEO ใหม่ บริษัท ไทยออยล์ ประกาศมุ่งสานต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงไฟฟ้า ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมประกาศลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท ปรับพอร์ตธุรกิจ 3 ปี (ปี 2566-2568) เพิ่มสัดส่วนกำไรธุรกิจใหม่ ขณะเดียวกัน แนะรัฐบาลใหม่กำหนดนโยบายพลังงานให้เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงพลังงานได้สะดวก เพียงพอและราคาเหมาะสม

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) แถลงวิสัยทัศน์ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง CEO คนใหม่ของบริษัท ไทยออยล์  ว่า พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด “TOP for The Great  Future” ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน” มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 3V คือ Value Maximization ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products) Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค รองรับการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในอนาคต รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น และ Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) และ ธุรกิจ New S-Curve อื่นๆ ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ ไทยออยล์มีแผนปรับเป้าหมายธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในปี 2573 โดยแบ่งสัดส่วนกำไรใหม่ คือ กำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง จะอยู่ที่ 40% ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี 30% ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ๆ 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน จากพอร์ตธุรกิจในปัจจุบันที่มีกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมสูงถึง 70-80%

- Advertisment -

โดยไทยออยล์ ได้วางแผนการขับเคลื่อนการลงทุนระยะสั้น 3 ปี ( ปี 2566-2568) ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 35,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะใช้สำหรับลงทุนโครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project (CFP) และใช้ลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2)  กับทาง PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการในอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ขณะที่ในปี 2566 คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามแผน จากปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 90 % และปี 2566 นี้ คาดว่าจะเป็นปีที่มีการใช้แรงงานเข้าสู่พื้นที่มากที่สุด ประมาณ 15,000 คน เพื่อเร่งการก่อสร้าง โดยตั้งเป้าหมายจะให้หน่วยผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 แล้วเสร็จก่อนภายในไตรมาส 1 ปี 2567 และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะเป็นการกลั่นน้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน (Jet) เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ ค่าการกลั่น (GRM) ซึ่งปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการกลั่นน้ำมันที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น

สำหรับทิศทางธุรกิจน้ำมันในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างดี เพราะความต้องการใช้น้ำมันทุกประเภทปรับสูงขึ้น ตามทิศทางความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะภายหลังจีนเปิดประเทศ โดยน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2566 นี้ จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้ 4-5% และน้ำมันอากาศยานจะเติบโตขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา   

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบครึ่งแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ 80-85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเปิดประเทศของจีน รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์การแบ่งขั้วทางการเมืองใหม่ระหว่างจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนและความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ราคาน้ำมันครึ่งหลังของปี 2566 ได้เนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อราคาน้ำมันให้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

สำหรับกรณีที่ค่ายน้ำมันบางจากเข้าซื้อกิจการของค่ายน้ำมันเอสโซ่นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยออยล์ในด้านอำนาจต่อรองทางการตลาด เนื่องจากลูกค้าของไทยออยล์คือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความผูกพันธ์กับไทยออยล์มานาน ประกอบกับผลิตภัณฑ์น้ำมันเป็นตลาดเสรี การค้าขายขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและความต้องการขายในตลาด มากกว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ดังนั้นอำนาจต่อรองทางการตลาดน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ส่วนกรณีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ของไทยเร็วๆ นี้ ก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญกับธุรกิจน้ำมันเช่นกัน หากการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลใหม่ไม่มีความต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานเป็นอย่างมาก เช่น ในอดีตเคยมีนโยบายให้จำหน่ายน้ำมันกลุ่มเอทานอลและไบโอดีเซลหลายชนิด ทั้งแก๊สโซฮอล์ E85 E20 และ E10 รวมถึงน้ำมันไบโอดีเซลทั้ง B7 และ B20 แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการกำหนดนโยบายใหม่ ไม่เน้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์E85 เหลือเพียง แก๊สโซฮอล์ E10 และดีเซลเหลือเพียง B7-B10 เป็นต้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนของอุตสาหกรรมน้ำมัน  

นอกจากนี้ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนจะเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภูมิภาคอาเซียน และมีการกำหนดนโยบาย 30@30 หรือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายก็จะมีผลต่อแผนการลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานเช่นกัน    

ดังนั้น ต้องการให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศมีความต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงพลังงานได้สะดวก รวมทั้งมีพลังงานเพียงพอและราคาเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานด้านไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งภาครัฐควรหารือกับผู้ประกอบการเพื่อให้นโยบายรัฐและธุรกิจเอกชนเดินหน้าไปด้วยกันได้และ เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้ได้เหมาะสม   

Advertisment