ซีอีโอ ปตท.ย้ำเดินหน้าลดสัดส่วนหุ้น ปตท.ใน ไทยออยล์ GC และ IRPC เปิดทางพันธมิตรช่วยเสริมความแข็งแกร่ง

630
- Advertisment-

ซีอีโอ ปตท.เปิดแนวคิดริเริ่มที่สำคัญในปี 2568 ยืนยันแนวทางปรับพอร์ตธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท.ที่ถืออยู่ใน 3 บริษัทลูกทั้ง GC  IRPC  ไทยออยล์ ลงเพื่อดึงพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง โดย ปตท. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่  ตั้งเป้าภายในปี 2570  EBITDA โตขึ้นอีก  3 หมื่นล้านในขณะที่ผลประกอบการปี 2567 มีรายได้ 3 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิ 9  หมื่นล้านบาท ระบุตั้งแต่ปี 2563-2567 ปตท.มีบทบาทในการช่วยลดค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชน กว่า 2.8 หมื่นล้านบาท

ดร. คงกระพัน  อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงแนวคิดริเริ่มที่สำคัญในปี 2568 (Key Initiatives) ที่จะเสริมความแข็งแกร่งในการทำให้EBITDA (กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย ภาษีและค่าเสื่อมราคา) ของ ปตท. เพิ่มขึ้น ว่า มีการกำหนดไว้เป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  ซึ่งแผนระยะสั้น จะดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทลูกในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปีนี้ ภายใต้โครงการ D1- Domestic Products Mgmt โดย ปตท. จะดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อให้ได้เงินสดที่มากขึ้น และหันไปมุ่งความสนใจในเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์มากกว่า 

นอกจากนี้จะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ สร้างกำไรมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ประมาณ 30,000 ล้านบาทภายในปี 2570  ภายใต้โครงการ Mission X – operational Excellence และการนำดิจิตอลมาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน เพื่อสร้างรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2026 ภายใต้โครงการ Digital Transformation

- Advertisment -

ส่วนระยะกลาง จะเน้นการปรับโครงสร้างธุรกิจในภาคปิโตรเคมี โรงกลั่น (สำหรับธุรกิจภาคปิโตรเคมี และโรงกลั่น ของ ปตท. ประกอบด้วย บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ปตท.ถือหุ้นอยู่ 45.03% ,บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ปตท.ถือหุ้น 45.18 % และบมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) ปตท.ถือหุ้น 45.05 %) โดยจะมีการปรับพอร์ตของทั้ง 3 บริษัท ที่เป็นการลดสัดส่วนหุ้นที่ ปตท.ถืออยู่ แต่ ปตท.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ใช่การควบรวมกิจการของทั้ง 3บริษัท   ทั้งนี้หุ้นที่ลดสัดส่วนลง จะเปิดโอกาสให้พันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งการดำเนินงาน โดยเฉพาะการหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์   นอกจากนี้  ปตท.จะมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (LNG Hub) 

ในส่วนของแผนระยะยาว จะเน้นไปที่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และธุรกิจพลังงานโฮโดรเจน 

ทั้งนี้ ปตท.ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญคือ ธุรกิจด้านก๊าซธรรมชาติต่อไป เนื่องจากประเทศไทยยังมีความต้องการใช้ไม่น้อยกว่า 20-30 ปีข้างหน้า และก๊าซฯ ยังถือเป็นพลังงานสะอาดที่ ปตท. มุ่งเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเป้าหมายในปี ค.ศ. 2050

ส่วนเป้าหมายการลงทุนในระยะ 5 ปี (2568-2572) ได้กำหนดวงเงินไว้ทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท โดยในปี 2568 มีงบลงทุนอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้งบลงทุน 5 ปีดังกล่าวจะมุ่งเน้นการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจก๊าซฯ เป็นหลัก 

Screenshot

สำหรับผลการดำเนินการปี 2567 มีรายได้ 3,090,453 ล้านบาท กำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท อนุมัติเงินปันผลที่ 2.10 บาทต่อหุ้น โดยรายได้หลักของ ปตท.ยังมาจากธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ในกลุ่มสำรวจและขุดเจาะ (Upstream) ที่มาช่วยพยุงชดเชยให้กับกลุ่มธุรกิจปลายน้ำ ปิโตรเคมี (Downstream) ที่ขาดทุนตามสถานการณ์ราคาปิโตรเคมีโลก รวมถึงมีการบริหารจัดการขายธุรกิจและลดต้นทุนภายใน ส่งผลทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่า 10,000 บาท

ส่วนด้านการช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้แก่ประชาชนนั้น ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2567 ปตท.ได้เข้าไปช่วยเหลือรวมเป็นเงิน 28,000 ล้านบาท เช่น การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษ, การตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV), ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม, การขยายเวลาการชำระเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชน, การตรึงราคาก๊าซธรรมชาติในกิจการผลิตไฟฟ้า และเงินส่งผ่าน Shortfall ช่วยลดค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา 

Advertisment