ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ ลุยสร้างรายได้ ขายกล้าไม้ให้สถาบันปลูกป่าฯ ปตท.

667
- Advertisment-

ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม

ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ ลุยสร้างรายได้จากกล้าไม้ได้หลายแสนบาท โดยจะจำหน่ายกล้าไม้ให้กับสถาบันปลูกป่าฯ ปตท. เพื่อระดมเงินให้กับกองทุนดูแลสิ่งแวดล้อมของตำบล และเตรียมก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนในอนาคต ในขณะที่แผนการสร้างเตาเผาถ่านไบโอชาร์มีความคืบหน้า โดยจะเริ่มการจำหน่ายถ่านได้ภายในเดือนสิงหาคม ปีนี้

นายสม บุญสงกา ประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตำบลกำแพง ในฐานะชุมชนในโครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ หรือ Zero Carbon Community ของอาศรมพลังงาน มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของกลุ่ม ปตท. และสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด นั้น ในขณะนี้ชุมชนได้เตรียมกล้าไม้ไว้แล้วประมาณ 500,000 กล้า เพื่อจำหน่ายให้กับรัฐวิสาหกิจ หน่วยราชการ และผู้ที่ต้องการปลูกป่า หรือปลูกต้นไม้ทั่วไป

- Advertisment -

“ในชุดแรก ชุมชนเตรียมส่งมอบกล้าไม้ให้กับ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. เพื่อนำไปปลูกป่าและซ่อมพันธุ์ไม้ จำนวนประมาณ 100,000 กล้า โดยมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มูลค่าประมาณ 650,000 บาท ทั้งนี้ โครงการปลูกป่าของ ปตท. มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องมายาวนาน”

นายสม ยังเผยด้วยว่า รายได้จากการจำหน่ายนี้ ชุมชนจะหักส่วนหนึ่งเข้าสะสมในกองทุนดูแลสิ่งแวดล้อมของตำบลกำแพง และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปเป็นทุนในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนต่อไป

สำหรับกิจกรรมสำคัญของโครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ ซึ่งได้แก่การผลิตถ่านไบโอชาร์ เพื่อนำมาทำปุ๋ยบำรุงดินให้มีคุณภาพสูง สามารถดึงคาร์บอนลงดินได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ขณะนี้การออกแบบสร้างเตาเผาถ่านที่มีอุณหภูมิสูงถึง 600 องศาเซลเซียสเสร็จแล้ว และจะเดินหน้าก่อสร้างทันทีจำนวน 3 เตา โดยชาวบ้านจะช่วยกันสร้าง และเรียนรู้ไปด้วยกัน หลังจากนั้นจะเริ่มการทดลองเผา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคม ปีนี้ คาดว่ากำลังการผลิตถ่านจะได้ถึง 1 – 1.5 ตัน/เตา/ครั้ง ซึ่งจะตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ

“การเข้าร่วมโครงการชุมชนต้นแบบนี้ เป็นความภูมิใจของชาวตำบลกำแพง ที่จะได้มีส่วนช่วยลดโลกร้อน พร้อมกับการได้สร้างวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น  ดิน น้ำ ป่า ก็จะอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการพึ่งตนเอง ตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 อีกด้วย” นายสม กล่าวสรุป

Advertisment