ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) ชำแหละนโยบายตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ในสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง พบคนที่ได้ประโยชน์ไปกับนโยบาย คือ รถที่ใช้ดีเซล รวม 12 ล้านคัน (รวมบรรดารถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน7 คน จำนวน 3.2 ล้านคัน ) ในขณะที่คนที่ต้องรับกรรมคือผู้ใช้เบนซิน 42 ล้านคัน (รวมรถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลและสาธารณะ 21.8 ล้านคัน ) สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในการดำเนินนโยบายตรึงราคาแบบไม่แยกกลุ่มช่วยเฉพาะที่มีความจำเป็น
อัพเดทข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมัน วันที่ 10 มี.ค.65 (อ้างอิงจากเว็บไซต์ สนพ. www.eppo.go.th) ราคาหน้าโรงกลั่นของแก๊สโซฮอล์ 91 ที่คนขับรถมอเตอร์ไซค์ชอบเติม อยู่ที่ลิตรละ 30.09 บาท แต่ราคาขายปลีกที่หน้าปั๊ม อยู่ที่ 39.88 บาทต่อลิตร หรือแพงขึ้น 9.79 บาทต่อลิตร
ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นของดีเซลB7 อยู่ที่ 37.06 บาทต่อลิตร แต่ราคาหน้าปั๊มถูกตรึงเอาไว้อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างราคาแก๊สโซฮอล์ 91 กับ ดีเซลB7 มากถึง 9.94 บาทต่อลิตร
ทำไมแก๊สโซฮอล์91 จึงแพงกว่าดีเซล B7 ทั้งๆที่ ราคาหน้าโรงกลั่นถูกกว่า
กลไกที่ทำให้ดีเซล B7 ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์91 มาจาก 3 ส่วนหลักคือ
1.ภาษีสรรพสามิต
ดีเซล B7 ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต 3.20 บาทต่อลิตร (ครม.มีมติลดภาษีสรรพสามิตดีเซลชั่วคราว จาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาท ต่อลิตร)
แก๊สโซฮอล์91 ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต ที่ 5.85 บาท ต่อลิตร
2.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ดีเซล B7 ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันมากถึง 11.29 บาทต่อลิตร (ถ้าคิดจากปริมาณการใช้เฉลี่ยเดือน ม.ค.65 ที่ 62.6 ล้านลิตรต่อวัน กองทุนน้ำมันจะมีภาระชดเชย วันละ 706 ล้านบาทหรือ เดือนละ 21,180 ล้านบาท
สถานะของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ก.พ. 2565 นั้นติดลบรวมประมาณ 21,838 ล้านบาท โดยมีการขยายกรอบวงเงินกู้เพื่อเติมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท โดยหากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังยืนระยะในระดับนี้ เงินที่มีอยู่ จะใช้ไปได้อีกประมาณ 1 เดือน หรือไม่เกินเดือน เม.ย.65 นี้
เงินที่ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้จากสถาบันการเงินมีการคิดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนเสียใหม่ คนที่จะชำระหนี้กองทุนแทนคนใช้ดีเซล ก็คือ กลุ่มคนใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์
3.ค่าการตลาด
ดีเซลB7 ณ วันที่ 10 มี.ค. 66 มีค่าการตลาดที่ติดลบ 1.31 บาทต่อลิตร ส่วน แก๊สโซฮอล์ 91 มีค่าการตลาดติดลบ 0.28 บาทต่อลิตร ทำให้เห็นว่าผู้ค้าน้ำมันจะต้องมีการปรับราคาขึ้นอีกเพื่อให้ค่าการตลาดกลับมาเป็นบวก
การตรึงราคาดีเซลเอาไว้นานเกินไปเป็นการบิดเบือนโครงสร้างการใช้น้ำมันและไม่ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการขนส่งของประเทศในระยะยาว
ข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน ชี้ให้เห็นปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลB7เฉลี่ยอยู่ที่ 62.6 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 29.9 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเมื่อดูสถิติการจดทะเบียนสะสมจากกรมการขนส่งทางบกประกอบ จะยิ่งเห็นชัดว่า นโยบายรัฐที่ตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แบบดีเซล มากถึง 3.2 ล้านคัน ในขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เกิน 7 คน มี 3.7แสนคัน
สำหรับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หรือรถปิกอัพ 6.6 ล้านคัน และรถบรรทุกอีก 9.2 แสนคัน ที่รัฐอาจมองว่ามีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจเพราะการมีต้นทุนขนส่งที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันจะกระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนจึงต้องช่วยตรึงราคาดีเซลเอาไว้ให้นั้น นักวิชาการด้านพลังงาน เสนอทางออกว่า รัฐควรแยกประเภทช่วยเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็น และควรเป็นการช่วยในระยะสั้นๆ เท่านั้น
โดยระยะยาวรัฐควรมองการส่งเสริมให้มีการขนส่งระบบรางให้มากขึ้น เพราะจะเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและลดต้นทุนได้ดีกว่าการตรึงราคาดีเซลเอาไว้แบบนี้ ที่เป็นการเอาเงินจากระเป๋าคนใช้เบนซินมาอุ้มคนใช้ดีเซลแบบไม่มีลิมิต และไม่เป็นธรรมกับกลุ่มคนใช้เบนซินซึ่งเป็นน้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าดีเซลที่เป็นระบบเครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์และก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเช่น PM2.5 มาก
นักวิชาการคนดังกล่าวบอกด้วยว่า ประชาชนผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินนั้นมีมากกว่าผู้ใช้ดีเซล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งถ้าพวกเขารู้เรื่องมากขึ้นว่า รัฐบาลใช้กลไกที่ไม่เป็นธรรมกับพวกเขาในความพยายามที่จะตรึงราคาดีเซลเอาไว้ โดยให้พวกเขาใช้น้ำมันที่แพงกว่าความเป็นจริง ความนิยมในทางการเมืองที่มีต่อรัฐบาลน่าจะลดลง