กระทรวงพลังงานชง 8เรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่จะประชุมราวกลางเดือนธ.ค.2562 นี้ เน้นโมเดลการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน การปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างผลงานได้ภายในปี2563 ในขณะที่การปรับปรุงแผนPDP2018 ขยับไปเข้า กพช.ครั้งถัดไป เดือนก.พ. 2563
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมแผนขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน(Policy Quick Start)ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2562 ว่า โมเดลการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนของหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่างๆ นั้นทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จะสรุปและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในวันที่ 4 ธ.ค. 2562 นี้ ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประมาณกลางเดือนธ.ค. 2562 จากนั้นจะมีการออกประกาศหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ และเริ่มดำเนินการได้ในปี2563
ทั้งนี้ กบง.เมื่อวันที่21 ต.ค.2562 ที่ประชุม กบง. ได้หารือรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน หรือบริษัทลูกของการไฟฟ้าที่มีความพร้อมอยู่แล้ว 2. เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ปลายสาย หรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยอาจจะพิจารณานำเงินลงทุนมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือรูปแบบ CSR จากภาคเอกชนต่างๆ และ3. เป็นการลงทุนเพื่อนำของเสียมาจัดการให้เป็นประโยชน์เชิงพลังงาน เช่น ขยะ โดยมอบให้ พพ.และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ร่วมกันจัดทำรูปแบบรายละเอียดมาเสนอ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานว่า นอกเหนือจากเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะนำเสนอให้กพช.พิจารณาอนุมัติแล้ว ยังมีวาระอื่นๆที่น่าสนใจอีก 7เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีการปรับลดกรอบวงเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) เหลือ 50,000 ล้านบาท แบ่งการใช้จ่ายเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมช่วงปี 2560-2564 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท และการปรับลดสัดส่วนเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลงจาก 67% เหลือ 50% และไปเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนพลังงานทดแทนจากเดิม 30% เป็น 47% ในขณะที่สัดส่วนวงเงินด้านแผนบริหารจัดการกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ยังอยู่เท่าเดิมที่ 3%
2.เรื่องแผนยุทธศาสตร์สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ที่มีเป้าหมายจะลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และลดประเภทของน้ำมันลง เหลือน้ำมันพื้นฐาน2ประเภทคือ ดีเซลB10 และแก๊สโซฮอล์E20
3.เรื่องSpot LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่กบง.ได้รับทราบแนวทางการทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) แบบ Spot จำนวน 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน และช่วงเวลาการนำเข้าที่เหมาะสมลำแรกประมาณเดือนธันวาคม 2562 และลำที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน 2563 รวมทั้งการเสนอแนวทางส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาค(LNG Hub)
4.การแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)ประเภท ชีวมวล ตามที่กบง.เคยให้ความเห็นชอบ ที่ให้SPP ชีวมวล สามารถสมัครใจเลือก อยู่ในรูปแบบสัญญาเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น Feed in Tariff- FiT ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยได้คำนึงถึงผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ SPP ชีวมวลแบบ FiT (โครงการ SPP Hybrid Firm) ที่ได้มีการประกาศรับซื้อและดำเนินการคัดเลือกเมื่อปี 2560 โดยวิธี Competitive Bidding ควบคู่กันไปด้วยแล้ว
5.LTM ระยะที่2 คือการขยายสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2 ปี และเพิ่มปริมาณการซื้อขายสูงสุดเป็น 300 เมกะวัตต์ (MW) จากเดิม 100 เมกะวัตต์ ระหว่าง สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (Lao PDR, Thailand, Malaysia – Power Integration Project : LTM – PIP)ที่เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และ การประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th AMEM) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย
6.เรื่องการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างราคาให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม กับผู้บริโภค และ 7. วาระการเสนอตั้งคณะกรรมการ ESS (Energy Storage System Committee)
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเรื่องการนำเข้าLNG1.5 ล้านตันต่อปีของกฟผ. การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือPDP2018 รวมทั้งการปรับปรุงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EE) คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุม กพช.พิจารณาได้ในช่วงเดือนก.พ. 2563