คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดประชุม 30 ก.ค.นี้ จะพิจารณาให้ กฟผ.นำเข้า LNG แบบ Spot จำนวน 4 แสนตันภายในปี 2563 นี้ ในขณะที่ สนพ. เสนอโครงสร้างธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ใน 2 ทางเลือก คือ 1.แบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) คือให้ ปตท.เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯจากชิปเปอร์รายใหม่แต่เพียงผู้เดียว หรือ 2 แบบแข่งขันเสรีตามมติ กพช.31ก.ค.2560
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วันที่ 30 ก.ค.2563 นี้ จะมีการพิจารณาวาระสำคัญที่จะให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แบบ spot จำนวน 4 แสนตัน ภายในปี 2563 นี้ จากที่ผ่านมา กฟผ.ได้ทดสอบระบบในการนำเข้า LNG แบบ spot จำนวน 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตันมาแล้ว เมื่อปลายเดือน ธ.ค.2562 และ เดือน เม.ย.2563 ซึ่งจะมีการรายงานผลสรุปนำเสนอต่อกบง.ในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ การเสนอนำเข้าLNG ในปริมาณ 4 แสนตันในปีนี้ เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ. ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกับปตท.ตามปริมาณส่วนที่เหลือจากสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือสัญญา Global DCQ ที่ กฟผ. ลงนามกับ ปตท.เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งยืดหยุ่นให้ กฟผ.สามารถจัดหาLNG ได้เองในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ภายในระยะเวลา 10 ปี นอกเหนือจากก๊าซที่ปตท.เป็นผู้จัดหาให้
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า กบง.ยังจะมีการพิจารณาวาระการทบทวนโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ที่ทาง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำเสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. วันที่ 16 ธ.ค.2562 ที่มอบหมายให้ สนพ.ไปศึกษาทบทวนแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่กพช.เคยเห็นชอบไปก่อนหน้านี้
โดย สนพ. จะเสนอ 2 แนวทาง ให้ กบง.พิจารณาคือ 1.โครงสร้างกิจการก๊าซฯ แบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) โดยให้ shipper รายใหม่ที่ได้ใบอนุญาต แข่งขันกันจัดหาก๊าซ ให้กับ ปตท. ที่จะเป็นผู้รับซื้อเพียงรายเดียว เพื่อส่งเข้าระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซ ที่ปตท.เป็นผู้ดูแลอยู่ เช่นเดียวกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ที่ กฟผ. เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้รับซื้อไฟฟ้า และผู้ดูแลระบบสายส่งไฟฟ้า
ส่วนทางเลือกที่ 2 คือ การเปิดให้แข่งขันกันแบบเสรีทั้งหมด ตามมติ กพช. วันที่ 31 ก.ค.2560 ที่
เป็นการเปิดเสรีโดยเปิดให้มีเอกชนรายใหม่สามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติทั้งในส่วนของการนำเข้า LNG การจัดหาและจำหน่าย (Shipper) และการลงทุนบริหารสถานีรับจ่ายและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งให้ ปตท. จัดตั้ง TSO เพื่อเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่แยกเป็นอิสระจากการจัดหาและจำหน่าย ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซและรักษาสมดุล เสถียรภาพและความมั่นคงของระบบท่อส่ง นอกจากนี้จะมีนโยบาย SPP Pool และการจัดตั้งตลาดกลางการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เป็นต้น