กฟน. เผยจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการ National Energy Trading Platform (NETP) กำหนดแล้วเสร็จปี 2562 ชี้เป็นศูนย์รวมการซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ทุกรูปแบบในเมืองไทย ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศผ่านระบบBlock Chain ยอมรับระบบผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองจะกระทบรายได้ กฟน. จึงต้องเร่งปรับตัวเป็นผู้ให้บริการสายส่งไฟฟ้า และบริหารการจำหน่ายไฟฟ้าผ่าน Block Chain รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนเมืองที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการ ด้านวิชาการและบริหารพัสดุ การการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่3 การไฟฟ้า(กฟน. , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA) ได้ลงนามความร่วมมือ(MOU) โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ และจัดทำแผนที่นำทางแพลตฟอร์มดิจิทัลการไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ โครงการ National Energy Trading Platform (NETP) ไปเมื่อเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา นั้น ขณะนี้ได้เริ่มว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการดังกล่าวแล้ว ในกรอบวงเงินประมาณ 30 ล้านบาท คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2562
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวเป็นเสมือนการสร้างระบบปฏิบัติการ(Platform) เทคโนโลยีบล็อกเชน( Block Chain) ซึ่งสามารถบริหารจัดการไฟฟ้าให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเองได้ ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าร์เซลล์)และผู้ใช้ ในรูปแบบระดับชาติ โดยในอนาคตเอกชนที่มีการซื้อขายไฟฟ้ากันเองผ่านระบบบล็อกเชน ก็สามารถนำบล็อกเชนมาเชื่อมโยงกับPlatform ของโครงการนี้ได้ เช่น เอกชนที่ซื้อขายไฟฟ้ากันเอง หากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลือ ก็สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบบล็อกเชนของโครงการนี้ได้ จากนั้นจะมีการบริหารจัดการไฟฟ้าไปยังพื้นที่อื่นที่ต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นๆ ต่อไปผ่านระบบสายส่งของทั้ง3การไฟฟ้า
ทั้งนี้คาดว่า NETP จะรองรับการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกจังหวัดและกระจายไปทุกพื้นที่ได้ เป็นรูปแบบการบริหารจัดการไฟฟ้ารูปแบบใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อย่างไรก็ตามในการนำมาปฎิบัตินั้น จะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ของกระทรวงพลังงาน และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อน รวมทั้งอาจจำเป็นต้องตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาบริหารจัดการซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากบล็อกเชนดังกล่าว โดยเฉพาะด้วย โดยผู้ร่วมโครงการในอนาคตจะต้องมีระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Meter)แล้วเท่านั้น ซึ่งจะสามารถทราบข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ชัดเจน
นายกีรพัฒน์ กล่าวว่า การซื้อขายไฟฟ้ากันเอง เริ่มเติบโตมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กฟน. เช่นกันแต่คาดว่าไม่มากนัก เนื่องจาก กฟน. เป็นเพียงผู้จำหน่ายไฟฟ้า ไม่ใช่ผู้ผลิต ดังนั้นหากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ กฟน. สามารถจัดซื้อไฟฟ้าจากประชาชนผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ได้ จะมีส่วนช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าที่ซื้อมาเพื่อจำหน่ายถูกลงไปด้วย และแม้จะมีระบบบล็อกเชนเกิดขึ้นแต่การซื้อขายไฟฟ้าในระบบบล็อกเชนของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลยังต้องพึ่งพาสายส่งไฟฟ้าของ กฟน.อยู่ ซึ่ง กฟน.ยังมีรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการสายส่งไฟฟ้าต่อด้วย
นอกจากนี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของกรุงเทพฯและปริมณฑลจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้เครื่องมือสื่อสารสูงขึ้น รวมถึงการมีรถไฟฟ้าหลายสายที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองเพิ่มขึ้นด้วย