จุฬาฯ นิด้า เกษตรศาสตร์ ชิงเป็นที่ปรึกษาSEA

622
- Advertisment-

คณะกรรมการ SEA เปิด 3 รายชื่อมหาวิทยาลัยชิงรับงาน “ที่ปรึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้” มูลค่า 50 ล้านบาท มีทั้งจุฬาฯ , นิด้าและม.เกษตรฯ เตรียมเสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกต่อกระทรวงพลังงานเร็วๆนี้ คาด ธ.ค. 2561 เริ่มศึกษาได้และจะได้คำตอบว่าควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาหรือไม่ ภายใน เม.ย.2562

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้  เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ SEA ได้เปิดให้ 3 สถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอเป็น “ที่ปรึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้” คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้านำเสนอแผนงาน เพื่อให้คณะกรรมการฯ SEA ลงคะแนนสำหรับคัดเลือกจ้างที่ปรึกษาฯ ต่อไป

โดยหลังจากนี้จะนำรายชื่อผู้ที่มีคะแนนสูงสุดเสนอต่อกระทรวงพลังงานและเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณาต่อไป ซึ่งจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และคาดว่าที่ปรึกษาโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการศึกษาการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ได้ภายในเดือน ธ.ค. 2561 นี้ ภายใต้งบประมาณ 50 ล้านบาท ที่นำมาจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าของ กกพ.

- Advertisment -

สำหรับแผนงานที่วางไว้นั้น คณะกรรมการฯ SEA ได้วางกรอบการศึกษา กำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 9 เดือน หรือเสร็จสิ้นในเดือน ส.ค. 2562 โดยจะครอบคลุมการศึกษา 15 จังหวัด แต่ในช่วง 5 เดือนแรก หลังจากมีการลงนามว่าจ้างที่ปรึกษาฯ แล้ว หรือประมาณ เม.ย.2562 จะต้องตอบข้อสงสัยให้ได้ ดังนี้ 1.ความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ 2.ในพื้นที่ จ.กระบี่และอ.เทพา จ.สงขลา ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ และ3.ทางเลือกอื่นคืออะไรถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แหล่งข่าวในคณะกรรมการ “SEA” กล่าวว่า การลงคะแนนเบื้องต้นพบว่า มี 2 สถาบันฯที่มีคุณสมบัติโดดเด่นใกล้เคียงกัน และตรงต่อวัตถุประสงค์หลักในการคัดเลือกของคณะกรรมการฯ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ และถึงแม้ว่า จะมีผู้ยื่นเสนอแผนงาน 3 สถาบันฯ ซึ่งในแต่ละสถาบันจะประกอบไปด้วยทีมงานมากกว่า 10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการศึกษาด้วย เพื่อให้ผลการศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมทุกประเด็นและตอบคำถามแก่สังคมได้

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ กระทรวงพลังงาน ได้เปิดชี้แจงเงื่อนไข(TOR) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2561 และ กำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอระหว่างวันที่ 17 ก.ย. 2561 ถึง 5 ต.ค. 2561 โดยพบว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น คือ จุฬาฯ,นิด้า และม.เกษตรฯ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับคณะกรรมการ SEA นั้นจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2561 เพื่อศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ซึ่งรวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานร่วมกัน

โดยที่ผ่านมา SEA กำหนดวงเงินสำหรับการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการตาม ข้อกำหนดการศึกษา(TOR) เอาไว้ 50 ล้านบาท  ภายในกรอบระยะเวลาการศึกษาต้องเสร็จใน 9 เดือนนับจากวันที่ลงนามจ้างที่ปรึกษา แต่ภายในระยะเวลา 5 เดือนจะต้องได้ความชัดเจนว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีควรจะสร้างที่ไหนจึงจะเหมาะสม และถ้าไม่ควรมี ควรจะมีพลังงานจากแหล่งใดมาทดแทนเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

Advertisment