จีอีลงนามสัญญาบริการซ่อมบำรุงกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) โรงไฟฟ้าประเภทผลิตไฟฟ้าร่วมกับความเย็นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นเวลา 5 ปี โดยบริการซ่อมบำรุงของจีอี จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ DCAP เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและระบบทำความเย็นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำที่สุด
วันนี้ ( 25 สิงหาคม 2563 ) เจเนอรัล อิเลคทริค หรือ จีอี (NYSE: GE) ลงนามสัญญาครั้งใหม่กับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) โรงไฟฟ้าประเภทผลิตไฟฟ้าร่วมกับความเย็นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในการบำรุงรักษากังหันก๊าซ aeroderivative รุ่น LM6000 PD จำนวน 2 เครื่อง ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยให้ DCAP เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าขนาด 110 เมกะวัตต์ และจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและระบบทำความเย็นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนให้กับ DCAP ด้วย
ทั้งนี้ในฐานะผู้ผลิตกังหันก๊าซ จีอีมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้า ร่วมกับการซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลา 5 ปีตามสัญญาความร่วมมือ
ผู้บริหารของ DCAP ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ได้แก่นายสุเทพ เรืองพรวิสุทธิ์ กรรมการ รักษาการผู้จัดการใหญ่ และนายสันติ วงศ์รุ่งโรจน์กิจ ผู้จัดการฝ่ายจัดการธุรกิจ และในส่วนของจีอี มีนายรชต ศังขวณิช ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการพาณิชย์ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ นายภานุพงษ์ ปิยะวงศ์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่าย Multi-year Services Agreement เป็นผู้ลงนามสัญญา
นายสุเทพ เรืองพรวิสุทธิ์ กรรมการ รักษาการผู้จัดการใหญ่ DCAP กล่าวว่า “DCAP มุ่งมั่นที่จะผลิตไฟฟ้าให้แก่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่รองรับผู้โดยสารราว 64 ล้านคน และการขนส่งสินค้าทางอากาศถึง 1.3 ล้านตันต่อปี ในฐานะผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า เราเลือกจีอีให้เป็นผู้บำรุงรักษา ดูแลโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จากผลงานซึ่งเป็นที่ประจักษ์ทั้งด้านบริการและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เราจึงมั่นใจในความเชี่ยวชาญและความสามารถของทีมงานในภูมิภาคของจีอีทั้งด้านเทคนิคและวิศวกรรม”
นายรชต ศังขวณิช ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการพาณิชย์ ธุรกิจพลังงานก๊าซ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท จีอี กล่าวว่า “การลงนามในสัญญาวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการประสานความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานของจีอี และ DCAP ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เมื่อ DCAP เริ่มเดินเครื่องการผลิต โดยใช้กังหันก๊าซ รุ่น Frame 5 ของจีอี ปัจจุบัน DCAP ได้ใช้กังหันก๊าซ Aeroderivative รุ่น LM6000 PD ของจีอี จำนวน 2 เครื่อง ในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 และเดือนมีนาคม 2555 เรามั่นใจว่าด้วยเสถียรภาพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งทีมงานผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค จะทำให้ความร่วมมือในครั้งนี้ เอื้อประโยชน์แก่ DCAP ได้อย่างน่าพอใจ”
ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีการใช้กังหันก๊าซ aeroderivative ของจีอี อยู่ประมาณ 40 เครื่อง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้น ได้รับการบำรุงรักษาโดยจีอี จึงทำให้จีอีเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี aeroderivative อันดับหนึ่งในประเทศไทย