จับตาการทำงาน กกพ.ชุดใหม่ ต้องโปร่งใส เป็นธรรม

424
- Advertisment-

บทความ

จับตาการทำงาน กกพ.ชุดใหม่  ต้องโปร่งใส  เป็นธรรม

การตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. เข้าทำนองสำนวนที่ว่า “เรียนผูก ต้องเรียนแก้” เพราะในที่สุด เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2561  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ใช้อำนาจในบทบาทของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 14/2561 แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชุดใหม่ทั้ง 7 คน ซึ่งมีผลทำให้ กกพ.ชุดเดิม ที่เหลืออยู่ 4 คน คือ นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธาน กกพ. และกรรมการอีก 3 คน คือ นายวีระพล  จิรประดิษฐกุล นางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ และ นางปัจฉิมา ธนสันติ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปทั้งหมด จากที่เมื่อปี 2560 นายไกรสีห์ กรรณสูต พ้นตำแหน่งไปก่อนแล้วเพราะอายุครบ70 ปี  ส่วน อีก 2 คนคือ นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ และนางดวงมณี โกมารทัต พ้นตำแหน่งจากการยื่นใบลาออก เพราะรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ส่งสัญญาณมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 ให้ กกพ. พิจารณาตัวเองในการอยู่ในตำแหน่ง แต่การลาออกเพิ่งจะมีผลเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา

- Advertisment -

เหตุผลที่ต้องใช้คำสั่ง คสช. ตั้ง กกพ. ในครั้งนี้  ก็เหมือนเป็นการเรียนแก้ เพราะในคำสั่ง คสช. ที่ 95/2557  ซึ่งให้ กกพ.ชุดที่มาจากกระบวนการสรรหาตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 พ้นจากตำแหน่ง ไปเมื่อปี 2557 และตั้ง กกพ. 7คน มาแทนในคราวนั้น คสช. ไม่ได้เขียนระบุเอาไว้ถึงวาระการดำรงตำแหน่งและการออกจากตำแหน่งที่ชัดเจน ทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติจนต้องส่งตีความข้อกฎหมาย ดังนั้น ในคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 14/2561 ที่ออกมาล่าสุด เกี่ยวกับการตั้ง กกพ. จึง เขียนกำหนดรายละเอียดของการอยู่ในตำแหน่งเอาไว้ 6 ปี และให้พ้นจากตำแหน่งโดยการจับสลาก 3 คน เมื่อครบ 3 ปี   เพื่อให้การทำงานของ กกพ. ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อกิจการพลังงานของประเทศ กลับมาสู่เงื่อนไขกระบวนการของ กฎหมายประกอบกิจการพลังงาน ตามที่เคยถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่เริ่มต้น

เมื่อตรวจสอบรายชื่อของ กกพ. ที่ตั้งใหม่ ทั้ง 7 คน ในสายตาคนแวดวงพลังงานก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานมาก่อน และมีองค์ประกอบของหน่วยงานที่คล้ายกันกับ กกพ. ชุดก่อนหน้านี้  อาทิ นายเสมอใจ  ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการ ก็เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และอดีตรองปลัดกระทรวงพลังงาน เทียบเคียงได้กับ นายวีระพล  จิรประดิษฐกุล ที่เป็นอดีต ผอ.สนพ. และอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ส่วนนายสหัส  ประทักษ์นุกูล กรรมการ กกพ.ชุดใหม่ ก็เป็น อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด (เอ็กโก้ กรุ๊ป) เทียบเคียงได้กับนายไกรสีห์ กรรณสูต ที่เป็นอดีตผู้ว่าการ กฟผ.

นายพีระพงษ์  อัจฉริยชีวิน  ก็เป็นอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)    เทียบเคียงได้กับ นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ  ที่เป็นอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ วางแผนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.  รวมทั้ง  นายชาญวิทย์  อมตะมาทุชาติ ก็เป็นอดีตรองเลขาธิการ สภาพัฒน์ ฯ เทียบเคียงได้กับ นางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ

ส่วนกรรมการคนอื่นๆเช่น นางอรรชกา สีบุญเรือง เป็นอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายสุธรรม อยู่ในธรรม อาจารย์ด้านกฎหมาย และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับสายสิ่งแวดล้อม  ก็ถือว่าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกัน

ว่ากันว่ารายชื่อของ กกพ.ทั้ง 7 คน ที่ตั้งคราวนี้นั้น ถือว่าพลิกกระแสข่าวลือก่อนหน้านี้ ที่บอกว่า บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ส่งคนใกล้ชิดมานั่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ใน กกพ. แต่เอาเข้าจริง ก็เห็นมีเพียงบางรายชื่อเท่านั้น

ถามว่างานสำคัญอะไรที่ กกพ.ทั้ง 7 คน จะเข้ามาดำเนินการในช่วง 6 ปีที่ดำรงตำแหน่ง เท่าที่ กกพ ชุดเดิมตั้งเป็นโจทย์ไว้ ก็ต้องบอกว่า ภาพรวมคือการปรับบทบาทการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ให้สอดคล้องกับยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology  เพื่อให้การกำกับดูแลเกิดความเป็นธรรมทั้งกับรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน เอกชนผู้ประกอบการด้านพลังงาน และประชาชนผู้ใช้พลังงาน

โดยแนวโน้มในอนาคต เรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ควบคู่ไปกับระบบแบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงาน (Energy Storage System ) กำลังจะเข้ามาที่จะเปลี่ยนพฤติกรรรมให้ประชาชนที่เคยซื้อไฟฟ้าใช้ กลายเป็นประชาชนที่เป็นทั้งผู้ซื้อไฟฟ้าและผู้ขายไฟฟ้า ในคนเดียวกัน หรือ Prosumer มากขึ้น  อีกทั้งแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ก็เชื่อว่าจะมาแรง หรือเรื่องเทคโนโลยี Block chain , Smart Grid และ Micro Grid เหล่านี้ ทาง กกพ. จะต้องเป็นผู้กำหนดอัตราค่าเช่าระบบสายส่ง (Wheeling Charge ) รวมทั้งการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้อง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นร้อนที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม ในขณะนี้ คือการ พิจารณากรณีการเข้าซื้อกิจการไฟฟ้ากลุ่ม GLOW  ของบริษัท GPSC ที่เป็นบริษัทลูกของ ปตท. ว่า เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดผูกขาดกิจการไฟฟ้า หรือไม่  รวมทั้งการพิจารณาประเด็นการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก 25 ราย ที่ กกพ.ชุดเดิมเคยมีข้อเสนอเอาไว้ให้ต่ออายุกับทุกรายเป็นระยะเวลา 10 ปี ว่า กกพ.ชุดใหม่จะเห็นคล้อยตามชุดเดิม หรือจะขอเรื่องจากกระทรวงพลังงานกลับมาพิจารณาใหม่ รวมทั้งประเด็นเรื่องของการพิจารณาให้ใบอนุญาตค้าก๊าซ LNG  ที่จะสอดคล้องกับนโยบายการเปิดเสรีก๊าซในอนาคต

ต้องบอกว่า กกพ. มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจพลังงานของประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้นำเข้าพลังงานสุทธิที่มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านบาทต่อปี ประชาชนจึงมีความคาดหวังว่า กกพ. ชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา โดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่มีใครรับใบสั่งมาจากใคร ให้มาทำภารกิจเฉพาะเรื่อง เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม จนส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนอย่างไม่เป็นธรรม  

ดังนั้นการทำหน้าที่ของ กกพ.ชุดนี้จึงถูกจับตาจากสังคม ว่าอย่างน้อยที่สุด ก็ต้องมีภาพของความโปร่งใสไม่น้อยไปกว่า กกพ. ชุดก่อนหน้านี้ ที่ทำได้ค่อนข้างดีแล้ว…

Advertisment