จับตา การเจรจาพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ของรัฐบาลเศรษฐา จะเดินหน้าต่อแค่ไหน ?

1629
- Advertisment-

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA ที่เริ่มต้นมากว่า 50 ปี มีความก้าวหน้าในการเจรจามากที่สุดในรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 ที่มีการลงนาม MOU ร่วมกันของทั้งสองประเทศ แต่นับเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังถือว่าขยับกันไปไม่ถึงไหน โดยต้องติดตามว่ารัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปจนจบกระบวนการได้หรือไม่ สิ่งที่จะเป็นการปักธงให้เห็นก่อนว่า รัฐบาลชุดใหม่จะทำจริงในเรื่องนี้คือการใส่เรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ที่เคยอยู่ในนโยบายของพรรคเพื่อไทย ไปรวมไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา

หากย้อนอดีตไปทำความเข้าใจกับปัญหานี้ จะเห็นว่าพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาชิงประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ   ขีดเส้นล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตร.กม. ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น สิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยกับกัมพูชาให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้เลย

พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มีความสำคัญเพราะลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นแอ่งที่เรียกว่า Pattani Basin ซึ่งเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบในปริมาณสำรองไม่น้อยไปกว่าที่สำรวจพบมาแล้วในเขตทางทะเลฝั่งไทย โดยพื้นที่ในส่วนทางใต้ของ OCA นั้น ติดกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของไทย ที่ปัจจุบันแม้จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ก็ยังคงมีปริมาณสำรองเหลือพอผลิตต่อไปได้อีก 10 ปีภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ทั้งไทยและกัมพูชา ยังไม่สามารถมีข้อยุติเพื่อเริ่มต้นการเข้าไปสำรวจปิโตรเลียมได้ จึงเป็นการสูญเสียโอกาสในการที่จะนำทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

- Advertisment -

ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับนาย ชก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในปี 2544 หรือที่เรียกว่า เอ็มโอยู 2544 ( MOU 2001 ) มีสาระสำคัญ 5 ประเด็น โดยสรุปได้ว่า ให้มีการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน การกำหนดพื้นที่ที่จะมีการแบ่งเขตพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล โดยทั้งการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนั้นจะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ ( Indivisible package )และ การตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee -JTC ) ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจา

บรรยากาศ​งานเสวนา“การอ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา “ 

เมื่อเร็วๆนี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดเสวนาสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะเรื่อง “การอ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา “  โดย ดร.สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย  ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากร ได้กล่าวบนเวทีสัมมนา โดยระบุถึงบทบาทของกรมซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ว่าที่ผ่านมาได้เร่งดำเนินการตามกรอบ MOU 2544 อย่างเต็มที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติทางทะเลและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสำคัญ

สำหรับกลไกในการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ภายใต้ JTC ไทย-กัมพูชา จะมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) ฝ่ายไทย ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นหัวหน้าคณะ และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ

โดยสถานะการเจรจานับตั้งแต่ที่ลงนามใน MOU 2544 คณะกรรมการร่วม JTC มีการจัดประชุมไป 2 ครั้ง  หารืออย่างไม่เป็นทางการของประธานJTC ฝ่ายไทยและกัมพูชา 4 ครั้ง Sub-JTC ประชุม 2 ครั้ง

การประชุมคณะทำงานชุดที่มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เป็นหัวหน้าคณะ 1 ครั้ง และชุดที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ ประชุม 6 ครั้ง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ภายใต้ MOU 2544 มี ข้อตกลงเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะแบ่งเขตกันอย่างชัดเจนประมาณ 10,000 ตร.กม. และพื้นที่พัฒนาร่วมกันประมาณ 16,000 ตร.กม. และส่วนที่จะมีการแบ่งเขตแดนให้ชัดเจน โดยในแนวทางการแบ่งเขตพื้นที่ให้ชัดเจนนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชุมพร มองว่า มีปัจจัยที่จะทำให้การเจรจาไม่เป็นผล เพราะจะมีข้อขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่อาจจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างประเทศ เช่นกรณีการสูญเสียเขาพระวิหารในอดีต จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการเจรจา ซึ่งจะใช้เวลานาน ส่วนในพื้นที่พัฒนาร่วมที่จะแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันนั้นก็ยังมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้จะต้องมีการเจรจาถึงรูปแบบข้อตกลง การตั้งเป็นองค์กรที่จะแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน การกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ และเมื่อเจรจาจัดทำร่างข้อตกลงแล้วจะต้องนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ และมีการออกกฎหมายภายในที่จะต้องดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ซึ่งหากมีการโต้แย้งจากรัฐสภา สื่อมวลชน ภาคประชาชน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ

ข้อมูลที่นำเสนอจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์

แหล่งข่าวในวงการพลังงาน ให้ความเห็นว่า เงื่อนไขที่ระบุใน MOU 2544 ที่ให้การเจรจาเรื่องกำหนดเขตพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ต้องดำเนินการทำข้อตกลงควบคู่ไปกับพื้นที่ที่จะพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันนั้นเป็นจุดล็อก เพราะการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลในพื้นที่ส่วนบนนั้น ยากที่จะเจรจาให้ได้ข้อยุติ เพราะฝ่ายกัมพูชาลากเส้นล้ำเข้ามาโดยไม่ได้อิงหลักสากลตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS) ที่ไทยเป็นภาคี ซึ่งเมื่อตกลงในส่วนแรกไม่ได้ ก็จะไม่สามารถตกลงในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วมได้ เพราะ MOU กำหนดให้มีการทำความตกลงทั้งสองส่วนไปด้วยกัน

​ดร.สุพรรณวษา โชติกญาณ ถังอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย

 ในขณะที่​ ​ดร.สุพรรณวษา โชติกญาณ ถังอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่าง​ประเทศ​ ​ระบุว่า กรมฯ จะนำเสนอสถานะและความคืบหน้าการเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา ต่อรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะให้เดินหน้าต่อตามกรอบ MOU 2544 เพราะสามารถใช้ JTC ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจาให้มีความคืบหน้าได้

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นสนับสนุนรัฐบาลใหม่เดินหน้าการเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาต่างได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงานในระดับสูง โดยต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงเข้ามาใช้แทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผลิตได้น้อยลง โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นต้นทางของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีของประเทศ การพยายามเสาะแสวงหาแหล่งทรัพยากรก๊าซภายในประเทศและพื้นที่ OCA จึงควรเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อแก้ปัญหาราคาพลังงานให้กับประชาชนในระยะยาว

จากอดีตที่ผ่านมา ปัญหา OCA ไทย-กัมพูชา มีแนวโน้มความร่วมมือก้าวหน้าไปในทางที่ดี เมื่อผู้นำของทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากยุครัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2544 ในขณะที่ปี 2566    ทั้งกัมพูชา และไทย ต่างมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ ฮุน มาเน็ต และ เศรษฐา ทวีสิน ที่มีความเชื่อมโยงในทาง ที่เป็นมิตรต่อกัน จึงน่าจะเห็นเรื่องนี้ถูกจัดวางให้เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะเร่งดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ เราน่าจะได้เห็นการเดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ในเวลาอีกไม่นาน    

Advertisment