การขยายเวลาการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงออกไป จากเดิมต้องลดการอุดหนุนภายใน 24 กันยายน 2565 หรือ 3 ปีนับจากพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ ได้เลื่อนไปเป็น 24 กันยายน 2567 โดยในระหว่างนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ติดตามข้อมูลของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อประเมินสถานการณ์และดูความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพหากต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพว่าจะมีศักยภาพในการปรับตัวมากน้อยเพียงใด
อุตสาหกรรมไบโอดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มน้ำมันดีเซล โดยใช้ผลผลิตทางการเกษตรจากปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบหลักดูเหมือนยังมีความเคลื่อนไหวเรื่องการพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ไม่หลากหลายนัก ธุรกิจนี้ยังคงต้องพึ่งพิงนโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นหลัก ทั้งจากนโยบายพลังงานทดแทน มาตรการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ตลอดจนการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
แต่สำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลนั้นสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมได้หลากหลายกว่า โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. ได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเอทานอลของบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงรายใหญ่ของประเทศ มีกำลังการผลิตเอทานอล 4 แสนลิตรต่อวัน โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อแนวทางการลดการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และได้เห็นภาพรวมของบริษัทฯ ว่ามีศักยภาพในการต่อยอดอุตสาหกรรมได้หลากหลาย
UBE สามารถผลิตได้ทั้งเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง (Fuel Grade Alcohol) และเกรดอุตสาหกรรม (Industrial Grade Alcohol) ซึ่งปัจจุบันได้รับใบอนุญาตแบบชั่วคราวให้นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แอลกกอฮอล์ทำความสะอาดมือ โดยนางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ซีอีโอ UBE วิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจเอทานอลว่ายังมีโอกาสเติบโต เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย และบริษัทฯ ได้นำนวัตกรรมมาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือ 3 ปีต่อเนื่องกับสถาบันนวัตกรรม ปตท.ด้วยการนำเทคโนโลยียีสต์ทนร้อนมาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอล การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อร่วมกันพัฒนาเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์
อย่างไรก็ดี การพัฒนาต่อยอดของอุตสาหกรรมเอทานอลยังมีข้อจำกัด ผู้ผลิตยังต้องการให้รัฐช่วยประคับประคองในจังหวะที่กองทุนน้ำมันฯ จะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพโดยถ้าไม่เปิดเสรีเอทานอล ให้สามารถใช้งานไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ อาทิ การขยายการใช้งานไปยังอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ยา และเครื่องสำอาง ก็ต้องผลักดันนโยบายการใช้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน พร้อมกับผลักดันการใช้งานเอทานอลเป็นเกรดเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมการบิน เพื่อช่วยดูดซับกำลังการผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 6.7 ล้านลิตรต่อวัน แต่มีการใช้จริงอยู่ราวครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตเท่านั้น
ทางเลือกที่ว่า ถ้าไม่เปิดเสรีเอทานอล ก็ต้องหนุน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน จึงเป็นเหมือนทางออกให้กับอุตสาหกรรมเอทานอล เพราะไม่เพียงช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเอทานอลของไทย แต่ยังเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงราคาน้ำมันผันผวน ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรในประเทศด้วย