จังหวัดจันทบุรี จับมือ อัลฟ่า คอม เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย นำร่องคัดกรองทุเรียนเตรียมส่งออกด้วย “ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเทคนิค CRISPR”
เมื่อเร็วๆ นี้ – นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี (ที่ 4 จากซ้าย) นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (ที่ 3 จากซ้าย) นายไกรยสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากซ้าย) นายคเณศ กาญจนแก้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด (ที่ 4 จากขวา) ดร.พรรณวิกา พรรณโณภาศ นักวิจัยวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า (FRC) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) (ที่ 3 จากขวา) และดร. วนิดา เพ็ชรสังข์ ผู้อำนวยการโครงการ BLUE ENGENE บริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด (ที่ 2 จากขวา) ร่วมพิธีเปิด “ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile lab) ตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ปนเปื้อนในสินค้าเกษตรส่งออก ด้วยเทคนิค CRISPR” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร และ บริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด บริษัทย่อยของ ปตท. เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ส่งออก
โดย Mobile lab นี้ เป็นการเก็บตัวอย่างและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเทคนิค CRISPR (คริสเปอร์) ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID – 19) ได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถเคลื่อนย้าย เพื่อให้บริการตรวจตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เสริมประสิทธิภาพการค้นหาเชิงรุก โดยจะเริ่มนำร่องให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่อาจปนเปื้อนอยู่บนทุเรียนที่เตรียมส่งออกในพื้นที่เขตภาคตะวันออก จำนวน 2,000 ตัวอย่าง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีห้องแลบตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ปนเปื้อนในสินค้าเกษตร ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศจีน แต่ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า อีกทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยในเวทีโลกให้เติบโต แข็งแกร่ง และเป็นศูนย์กลางการส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อไป