ราช กรุ๊ป พร้อมให้คำตอบว่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวกับปตท.หรือจะจัดหาLNGนำเข้าเอง เพื่อมาใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง(โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก )ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ภายในเดือนเม.ย.2563นี้ โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี2564 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2567-2568
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองชุดที่ 1 และ 2 (โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก )ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ว่า บริษัทอยู่ในระหว่างศึกษาใน 2 ทางเลือก คือการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เอง ประมาณ 1.4-1.5ล้านตันต่อปี เพื่อส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าเอง หรือจะให้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติให้ เหมือนที่ผ่านมา โดยหากเลือกแนวทางที่จะให้ ปตท.เป็นผู้จัดหา ก็จะต้องแจ้งให้ทางปตท.รับทราบภายในเดือนเม.ย.2563 นี้เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวระหว่างกัน หลังจากที่เมื่อเดือนพ.ค.2562ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าหินกองได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ไปแล้ว
นายกิจจา กล่าวว่า ในแนวทางที่ราช กรุ๊ป จะเป็นผู้จัดหาLNGเองนั้น ก็มีการเจรจากับบริษัทที่พร้อมจะซัพพลายให้ หลายบริษัท ซึ่งได้เงื่อนไขราคาLNG ที่ค่อนข้างถูก อย่างไรก็ตามยังต้องรอความชัดเจนในนโยบายจากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่จะต้องให้ใบอนุญาตให้บริษัท เป็นshipper รายใหม่ รวมทั้ง ต้องได้รับการยืนยันจากทาง ปตท. ซึ่งเป็นเจ้าของระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซ ว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพก๊าซที่จะส่งให้กับโรงไฟฟ้า เพราะLNGที่นำเข้า จะต้องไปผสมรวมกับก๊าซที่มาจากแหล่งอื่นๆด้วย
“แนวทางที่บริษัทต้องการจะเป็นผู้จัดหาLNG เอง ก็เพื่อให้ประขาชนมีทางเลือกที่จะได้ใช้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลง หากสามารถหาแหล่งซัพพลายLNG ที่มีราคาถูกได้ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีในตลาดก๊าซ เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงทั้งหมดถูกส่งผ่านไปที่ค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟที แต่หากมีประเด็นเรื่องคุณภาพก๊าซในระบบท่อ ที่ทำให้โรงไฟฟ้าต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปรับจูนบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง บริษัทก็จะต้องให้ทาง ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซให้เช่นเดิม และต้องแจ้งยืนยันกับปตท. ภายในเดือนเม.ย.2563 นี้ “นายกิจจา กล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองชุดที่ 1 และ 2 (โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก )ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการประเภทgreen field ที่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และบริษัทแบ่งให้ กลุ่มกัลฟ์ เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 49% ในราคาพาร์ นั้น อยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)พิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการอนุมัติได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยทำคู่ขนานไปกับกระบวนการคัดเลือก บริษัทที่มารับงานEPC (Engineering, Procurement and Construction, Integrated. EPC) โดยหากเป็นไปตามแผน จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณต้นปี2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 700เมกะวัตต์ในเดือน มี.ค.2567 และชุดที่ 2 อีก700เมกะวัตต์ ในเดือน ม.ค.2568
นายกิจจา ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานในรอบปี2562 ของ ราช กรุ๊ป ว่า มีการรับรู้รายได้รวม 43,220ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,963ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6.7% คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.11บาท ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 18ก.พ.2563 มีมติจ่ายเงินปันผลปี2562 หุ้นละ 2.40บาท