“คุรุจิต”นั่งตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ต่ออีก 2 ปี

1155
- Advertisment-

“คุรุจิต นาครทรรพ”นั่งตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ต่ออีก 2 ปี เจ้าตัวเผยงานสำคัญคือ การควบคุมการสำรวจให้เป็นไปตามแผนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ พร้อมชี้ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในแหล่งเจดีเอ มีใช้ได้ไปอีก13ปี หากไม่มีการสำรวจพบเพิ่มเติม

นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตัวเขาได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7ต.ค. 2562 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ต่ออีกวาระหนึ่ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

โดยงานสำคัญของประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย คือการควบคุมการสำรวจให้เป็นไปตามแผนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ในขณะที่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ คาดว่าจะมีใช้ไปได้อีกประมาณ 13ปี หากไม่มีการสำรวจพบใหม่เพิ่มเติม

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่24ก.ย.2562 ได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 4,791,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 146 ล้านบาท) และแผนการดำเนินงานประจำปี 2563 ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซียตามที่กระทรวงพลังงาน นำเสนอ โดยได้รับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 หรือ 209,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.4 ล้านบาท) จากงบประมาณที่ได้รับอนุมัติในปี 2562 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายที่เป็นทุนเพิ่มขึ้น โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วยการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ ค่าขนย้ายและเดินทางของเจ้าหน้าที่ที่จะครบวาระการปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่ การจัดซื้อรถยนต์เพื่อทดแทนคันเดิมที่ใช้งานมากว่า 7 ปี จำนวน 1 คัน

สำหรับองค์กรร่วมไทย – มาเลเซียนั้น จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2533 เพื่อดำเนินการและรับผิดชอบแทนรัฐบาลทั้งสองประเทศในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตในพื้นดินใต้ทะเลและใต้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) ซึ่งเป็นพื้นที่ใต้ทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง (ประมาณ 260 กิโลเมตรจากจังหวัดสงขลา) ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ์เหลื่อมล้ำกัน มีเนื้อที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 2 พื้นที่ คือ แปลง A-18 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร และแปลง B-17 และ C-19 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4,250 ตารางกิโลเมตร และมีสำนักงานใหญ่ขององค์กรร่วมฯ อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

Advertisment