คิตะคิวชู จากเมืองมลพิษอุตสาหกรรมหนัก สู่ เมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อมโลก

2842
- Advertisment-

“ทนงศักดิ์  วงษ์ลา”  คอลัมนิสต์รับเชิญของ ENC  เขียนถ่ายทอดประสบการณ์  การจัดการปัญหาขยะแบบเบ็ดเสร็จ ของเมืองคิตะคิวชู (KITAKYUSHU)ประเทศญี่ปุ่น  เปลี่ยนโฉมให้เมืองนี้ จากเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศจากอุตสาหกรรมหนัก ให้กลายเป็น Eco-Town หรือ “เมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อมโลก” (Environment Capital of the World)  ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจเดินทางมาดูงานได้อย่างไร   เชิญติดตาม

เมืองคิตะคิวชู

คิตะคิวชู  จากเมืองมลพิษอุตสาหกรรมหนัก สู่  “เมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อมโลก”

ในขณะที่การแก้ไขปัญหาขยะของไทย โดยนโยบายแปรขยะเป็นพลังงาน ยังไม่ประสบผล ทั้งๆที่มีการอนุมัติจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไปแล้ว 11 โครงการ กำลังผลิตติดตั้ง 83 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท  กับเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะให้ได้  2,600 ตันต่อวัน และลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 383,796 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี กำหนด “SCOD” ภายใน 31 ธันวาคม 2562 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ได้ใบอนุญาตรายใดดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าได้   จึงอยากจะเขียนเล่าเรื่อง เมืองคิตะคิวชู (KITAKYUSHU)ประเทศญี่ปุ่น ให้เห็นเป็นตัวอย่าง

KITAKYUSHU  เดิมเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมหนัก ที่มีการถลุงเหล็ก และ อุตสาหกรรมอื่นๆ จนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เรียกว่าอากาศสีรุ้ง 7 สี น้ำทะเลเสียไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่  แต่ด้วยความมุ่งมั่นของประชาชน หน่วยราชการและ เอกชนที่จะลดผลกระทบ จึงร่วมมือ ร่วมใจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  แบบ “Multi-Stakeholder” ที่มีการจัดการขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ ”คิตะคิวชู”  สามารถก้าวขึ้นเป็น Eco-Town หรือ “เมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อมโลก” (Environment Capital of the World) และ “เมืองหลวงด้านเทคโนโลยีของเอเซีย” (Technology Capital of Asia) ได้ในปัจจุบัน

- Advertisment -

”คิตะคิวชู” ยังได้รับการยกย่อง ให้เป็น  “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” แห่งแรกจากในจำนวน 26 เมืองที่ได้รับฉันทามติจากรัฐบาลกลางของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2551 ที่มีแผนปฏิบัติการนำของเสียจากอุตสาหกรรมมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการปล่อยของเสียจากโรงงานเป็น Zero Emission  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาลกลาง

ความเป็น Eco-Town ของ ”คิตะคิวชู”  คือ มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือศูนย์ (Zero Waste) มีภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกการขับเคลื่อน ตามหลัก 3Rs (Reduce Reuse Recycle) หรืออาจจะเพิ่มอีก 1 A (Avoid) เป็น 1A 3Rs (โครงการ “รวมพลังหาร 2”) ซึ่งให้ความสำคัญ 4 ด้าน คือ

  1. โครงการโรงงานบำบัดน้ำเสียและการผลิตน้ำจืดจากทะเล (Water Plaza)
  2. โครงการเมืองนิเวศน์ (Eco-Town) เน้นอุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นำทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ใหม่
  3. โครงการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Smart Community)
  4. โครงการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการผลิตที่สะอาด
ตัวอย่างขยะ ที่เตรียมส่งเข้าสู่โรงงานรีไซเคิล

เมืองคิตะคิวชู Eco Town เขารีไซเคิลทุกอย่างจริงๆ  ตั้งแต่การคัดแยกขยะมาจากครัวเรือน ตามสีถุงพลาสติก  โดยมีตัวแทนเข้าไปให้ความรู้ แนะนำ เริ่มจากการแจกถุงให้ชาวบ้าน (ปัจจุบันต้องซื้อตามห้าง) แนะนำประเภทขยะต่างๆ และนัดวันจัดเก็บ โดยคนใน ชุมชน ให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมมาก และยินดีที่ได้สอนวิธีทำปุ๋ยหมักจากพืชสดให้ผู้มาเยือน เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดต่อคนอื่นๆ ต่อไป ผลการดำเนินการสามารถลดขยะได้ 25% ก็คือการนำขยะมาใช้ใหม่ได้ 25% จากทั้งหมด

ขยะที่แต่ละครัวเรือนคัดแยกใส่ในถุงพลาสติกแต่ละสี  จะมีการกำหนดวันเก็บตามสี   โดยขยะที่จัดเก็บจะถูกส่งต่อมาเข้าโรงงานรีไซเคิล  ไม่ว่าจะเป็นโรงงานรีไซเคิลกระป๋อง พวกเศษเหล็กที่อัดเป็นเหลี่ยมส่งต่อโรงงานรีไซเคิลเหล็ก และมีโรงงานรีไซเคิลขวด PET (ขวดพลาสติกมีหลายประเภท ไม่สามารถรีไซเคิลได้ทุกประเภท) ที่น่าทึ่งคือ การนำขยะรีไซเคิลจากอุตสาหกรรม มาถมทะเลทำนิคมอุตสาหกรรม โดยกั้นพื้นที่เป็นเขตๆ และต้องใช้ระยะเวลา 10-20 ปี หรือ 30 ปี จึงจะสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างได้

การจัดเก็บขยะที่นัดวันตามสีของถุงขยะที่คัดแยก

การพลิกโฉม ของ “คิตะคิวชู” ครั้งใหญ่ได้สำเร็จ มีปัจจัยสำคัญ มาจากการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนี้

ภาครัฐ โดยรัฐบาลกลางของญี่ปุ่น  มีหน้าที่พิจารณาโครงการและอนุมัติเงินสนับสนุน ออก/ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลท้องถิ่นเสนอแผน สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ให้ความรู้ ส่งเสริมการศึกษาต่างๆ

ชุมชนและองค์กรเอกชน ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามแผน

บริษัทเอกชน ใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิต สร้างโรงงานรีไซเคิล การวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม

-สถาบันการศึกษา ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ตรวจประเมินสภาพสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ ปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ในส่วนการจัดการพลังงานใน Eco Town ของ คิตะคิวชู นั้น น่าจะมี 3 ระดับ คือ

  1. การจัดการพลังงานในครัวเรือน ชุมชน (Community Energy Management) เช่น ระบบ Smart Home การใช้ระบบขนส่ง EV Bus เป็นต้น
  2. การจัดการพลังงานในอาคาร (Building Energy Management) เช่น ที่ห้าง AEON ใช้ Application ในการควบคุมแสงสว่าง ความเย็น การติดตั้ง Solar Roof top เป็นต้น
  3. การจัดการพลังงานในอุตสาหกรรม (Factory Energy Management) เช่น การใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“คิตะคิวชู” ในมิติ ที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย นั้น เขามีความร่วมมือกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ของไทย ในการให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรมของเสียในพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี2553  ปัจจุบันมีการดำเนินโครงการ “ระยอง โมเดล”ที่ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี พื้นที่ จังหวัดระยองจะไม่มีปัญหา ขยะเหลือนำไปฝังกลบอีกเลย

ผมเคยถามคน คิตะคิวชู ว่าทำไมไม่มีถังขยะในถนนและที่สาธารณะ เขาตอบว่า นั่นแหละคือคำตอบ ยิ่งมีถังขยะมาก ยิ่งทำให้ขยะเยอะ ทุกคนควรสร้างขยะให้มีแต่น้อย และรับผิดชอบโดยเก็บไว้ไปทิ้งที่บ้านตัวเอง

ทนงศักดิ์ วงษ์ลา คอลัมนิสต์รับเชิญENC
Advertisment