ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมัน ICE Brent ในสัปดาห์นี้ (13-17 ก.ย. 2564) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 69 ถึง 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากราคาขายน้ำมันดิบแบบเทอมและการฟื้นตัวของอุปทานในสหรัฐฯ หลังกำลังการผลิตในอ่าวเม็กซิโกปรับเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการปรับราคาขายน้ำมันดิบแบบเทอม (Saudi Official Selling Price: Saudi OSP) ในเดือน ต.ค. 64 สำหรับน้ำมันดิบ Arab Light ส่งมอบลูกค้าในเอเชีย ลดลง 1.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากเดือนก่อนหน้า นับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 เดือน อีกทั้งมีการฟื้นตัวของอุปทานในสหรัฐฯ โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานว่า ณ วันที่ 10 ก.ย. 64 การผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติใน Gulf of Mexico หยุดดำเนินการอยู่ 0.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 49% และ 54% ของกำลังการผลิตทั้งหมดใน Gulf of Mexico ตามลำดับ ฟื้นตัวจากวันที่ 29 ส.ค. 64 ซึ่งการผลิตหยุดไป 1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 96% และ 94% ตามลำดับ (หลังเหตุการณ์พายุเฮอริเคน Ida – ENC)
ด้านปัจจัยการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) นาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผยหลังจบการประชุมในวันที่ 9 ก.ย. 64 ว่า ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% นอกจากนี้ ECB ยังมีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programm (PEPP) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ประมาณ 9.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) อย่างไรก็ดี ECB ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดวงเงินภายในไตรมาสที่ 4/64 ทั้งนี้มาตรการ PEPP มีกำหนดจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 65 ตามกำหนดเดิม
นอกจากนั้น ตลาดยังจับตามองท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งจะประชุมวันที่ 21-22 ก.ย. 64 อาจส่งสัญญาณเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน และระบุระยะเวลาเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรวงเงิน 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน
สำหรับ สัปดาห์ที่ผ่านมา (ุ6-10 ก.ย. 2564) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงโดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียปรับราคาขายน้ำมันดิบแบบเทอม (Saudi Official Selling Price: Saudi OSP) ในเดือน ต.ค. 64 สำหรับน้ำมันดิบ Arab Light ส่งมอบลูกค้าในเอเชียลดลง 1.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากเดือนก่อน นับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงาน ณ วันที่ 10 ส.ค. 64 ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ในเดือน ส.ค. 64 เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อนหน้า สูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 53 และดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI: ไม่รวมอาหารสด และเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้น 6.7% จากปีก่อนหน้า
- จีนมีแผนนำน้ำมันดิบจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) มาออกประมูลขายให้แก่โรงกลั่นในประเทศ เพื่อบรรเทาราคาขายปลีกในประเทศ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- รัฐบาลจีนอนุมัติโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบให้แก่โรงกลั่นเอกชนแห่งใหม่ Lianyungang (320 KBD) ของบริษัท Shenghong Petrochemical โดยในปี 2564 โควตานำเข้าอยู่ที่ 14.66 ล้านบาร์เรล ส่วนในปี 2565 และ ปี 2566 อยู่ที่ 116.47 ล้านบาร์เรล และ 117.28 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้บริษัทมีแผนเดินเครื่องทดสอบในเดือน ก.ย. 64 โดยมีกำหนดการดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ย. 64 ลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 423.9 ล้านบาร์เรล
- General Administration of Customs (GAC) ของจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ส.ค. 64 เพิ่มขึ้น 8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 10.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน
–