ครม. อนุมัติแผนกู้เงิน และแผนชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามกรอบที่ ครม. เคยเห็นชอบแล้วก่อนหน้านี้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท พร้อมมอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถพิจารณาปรับแผนการกู้เงิน และแผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ตามความเหมาะสม โดยจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือนตุลาคม 2572
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่อนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในวงเงิน 150,000 ล้านบาท พร้อมมอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถพิจารณาปรับแผนการกู้เงิน และแผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ตามความเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะด้วย
โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เสนอแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 โดยจะทยอยกู้เงินจำนวน 8 ครั้ง วงเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 (กู้ยืม ครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2566 และทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือนตุลาคม 2572
โดยการชำระหนี้การกู้ยืมเงิน 150,000 ล้านบาท จะมีแหล่งชำระคืนจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งจะสามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วนภายใน 7 ปี โดยจะทยอยชำระหนี้คืนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบถ้วนภายในเดือนตุลาคม 2572
ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 125,690 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้ออันส่งผลกระทบให้ในช่วงพฤศจิกายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และปัญหาอุทกภัย รัฐบาลจึงเห็นถึงความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กองทุนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ โดย ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นี้มีรายจ่ายสุทธิประมาณ 222 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,882 ล้านบาทต่อเดือน