คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมช่วยเหลือค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็ก อีก 2 เดือน ครอบคลุม 23.7 ล้านครัวเรือน หวังบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 ม.ค.2564 ได้มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยภายหลังการประชุมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำแถลงข่าวถึงผลการประชุม ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายดนุชา พิทยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ www.thaigov.go.th
โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในครั้งนี้ เป็นมาตรการที่เพิ่มเติมจากมาตรการที่ออกมาช่วงเดือน ธ.ค.2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
โดยในส่วนมาตรการที่เกี่ยวกับภาคพลังงานนั้นเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วง 2 เดือน ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนทำงานอยู่กับบ้าน หรือ Work from Home
นายดนุชา พิทยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงมาตรการเพิ่มเติมในส่วนของการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในวันนี้ (12 ม.ค.2564 ) ว่า เป็นการขยายช่วงการคิดอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เฉพาะ 2 เดือนที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน โดย แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1-500 หน่วย หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก และเกินจากนั้น คิดอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.24 บาทต่อหน่วย
ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ 501-1,000 หน่วย ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก หน่วยที่เหลือคิดอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 4.22 บาทต่อหน่วย
ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1,000 หน่วยขึ้นไป ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ส่วนหน่วยที่เหลือคิดอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุด ที่ 4.42 บาทต่อหน่วย ส่วนกิจการขนาดเล็ก จะให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ทุกรายเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้มาตรการที่เพิ่มเติมใหม่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ประชาชนเพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ เดิมหากผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 401 หน่วยขึ้นไป จะถูกคิดค่าไฟที่ 4.42 บาทต่อหน่วย แต่ตามมาตรการช่วยเหลือ จะต้องใช้เกิน 1,000 หน่วยขึ้นไปจึงจะคิดที่อัตรา 4.42 บาทต่อหน่วย โดยอัตราใหม่จะครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กรวม 23.7ล้านครัวเรือน แต่จะมีระยะเวลาช่วยเหลือเพียง 2 เดือนเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือในส่วนของภาคพลังงานไปแล้วได้แก่ การช่วยตรึงราคาน้ำมัน โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางช่วงปีใหม่ รวมมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท
การขยายระยะเวลาการคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กำหนดราคาที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม มีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมมูลค่า 1,890 ล้านบาท
การปรับลดอัตราค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จากเดิม -12.43 สตางค์ เป็น -15.32 สตางค์ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 2.89 สตางค์ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 จะทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 400 ล้านบาท รวมมูลค่า 1,600 ล้านบาท
การขยายเวลายกเว้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ผู้ประกอบการ กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 ได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน รวมมูลค่า 150 ล้านบาท
ในขณะที่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 นั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการช่วยเยียวยาผลกระทบให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ ในภาคพลังงาน เช่น การลดค่าไฟฟ้า LPG NGV ฯลฯ รวมมูลค่า 49,836 ล้านบาท