ครม.รับทราบมาตรการคืนเงินประกันค่าไฟฟ้า กว่า3หมื่นล้านตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

778
- Advertisment-

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดูแลปัญหาภัยแล้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ ทั้งการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กรวมประมาณ 21.5 ล้านราย วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในพื้นที่ 72 จังหวัด วงเงินรวม 4,064 ล้านบาท และการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าทั้งให้ส่วนลดค่าไฟร้อยละ 3 การตรึงค่าเอฟที และการขยายระยะเวลาการจ่ายค่าไฟสำหรับ กิจการโรงแรม บ้านเช่า เป็นเวลา 6 เดือนโดยไม่คิดค่าปรับ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้  (10มี.ค.2563) มีมติรับทราบมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดูแลปัญหาภัยแล้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ ประกอบด้วย

1. การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพิจารณาเร่งรัดออกแนวทางปฏิบัติและรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 21.5 ล้านราย สามารถใช้สิทธิในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่วางไว้ตามขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ซึ่งมีวงเงินรวมที่จะมีสิทธิขอคืนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะสามารถเริ่มทยอยคืนได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

- Advertisment -

2. การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในพื้นที่ 72 จังหวัด วงเงินรวม 4,064 ล้านบาท โดย

2.1 ให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินภายใต้โครงการชุมชนปี 2563 จำนวนกว่า 6,600 โครงการ วงเงินรวม 2,494 ล้านบาท เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่และพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นในด้านสาธารณสุข อาชีพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ พิจารณาทบทวนโครงการชุมชนภายใต้งบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้ว เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จ้างแรงงาน จัดซื้อหรือก่อสร้างที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ของผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นภายในประเทศ การศึกษาดูงานภายในประเทศแทนการศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

2.2 ให้พิจารณานำงบประมาณเหลือจ่ายในปี 2562 และ 2563 วงเงินรวม 1,570 ล้านบาท มาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมในการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

3. การกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้า โดยตรึงอัตราค่าเอฟที เดือนพฤษภาคม 2563 ในอัตรา -11.60 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าฐาน คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,534 ล้านบาท

4. มาตรการอื่น ๆ ของการไฟฟ้า ได้รับทราบข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในมาตรการต่าง ๆ อาทิ

4.1 ลดค่าไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 3 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) โดยรายละเอียดส่วนลดจะปรากฏในบิลที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับ

4.2 ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) ตลอดจนไม่คิดค่าปรับ (ดอกเบี้ย) ตลอดระยะเวลาการผ่อนผัน โดยไม่มีการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่

Advertisment