ครม.ตั้ง “ชนานัญ บัวเขียว”เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

1850
- Advertisment-

ครม.มีมติตั้ง “ชนานัญ บัวเขียว” เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ทำให้มีตำแหน่งผู้ตรวจราชการครบทั้ง 6 คนแล้ว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน สังกัดสำนักปลัดกระทรวงพลังงาน คนใหม่ อีก 1 ตำแหน่ง ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ คือ นางสาวชนานัญ บัวเขียว ที่ ขยับขึ้นจากตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) (ตำแหน่งนักบริหารระดับต้น ) โดยจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ ครม.เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติแต่งตั้งตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน สังกัดสำนักปลัดกระทรวงพลังงาน ไปแล้ว 2 คน คือ นายเพทาย หมุดธรรม ที่ขยับขึ้นจากตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)  และอีกคนคือ  นายภูมี ศรีสุวรรณ ที่ขยับจากตำแหน่งรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ผลจากการแต่งตั้งดังกล่าว ทำให้ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ สนพ.ยังว่างอยู่ทั้ง 2 ตำแหน่ง

- Advertisment -

สำหรับกระทรวงพลังงานมีตำแหน่งผู้ตรวจราชการทั้งสิ้น 6 ตำแหน่ง ปัจจุบันมีผู้นั่งในตำแหน่งนี้อยู่แล้ว 5 คน คือนายทวารัฐ สูตะบุตร เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการ นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ นายหร่อหยา จันทรัตนา  นายเพทาย หมุดธรรม และนายภูมี ศรีสุวรรณ โดยการตั้ง นางสาวชนานัญ บัวเขียว เพิ่มเข้ามา ทำให้ตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ได้ครบทั้งหมดแล้ว

โดยบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานนั้น หลักๆ จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน ในการติดตามงานของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หรือมีปัญหาอุปสรรคใดที่ต้องการให้เข้าไปช่วยแก้ไข

ซึ่งหัวหน้าผู้ตรวจราชการฯจะมีการแบ่งงานให้กับผู้ตรวจราชการแต่ละคนในการติดตามดูแลฯ กรมต่างๆ ในกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. และรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแล ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งแบ่งการดูแล พลังงานจังหวัด ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 18 เขต ซึ่งเท่ากับผู้ตรวจราชการฯแต่ละคนจะต้องดูแลคนละ 3 เขต หรือครอบคลุมพื้นที่คนละ 12-13 จังหวัด

นอกจากนี้บทบาทของผู้ตรวจราชการฯที่สำคัญอีกประการ คือ การเป็นกรรมการตรวจสอบวินัยป้องกันปัญหาการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นในกระทรวงพลังงาน โดยหากมีข้อร้องเรียนจากประชาชนหรือผู้ประกอบการด้านการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการ ก็จะเข้าไปสอบถามตรวจสอบข้อเท็จจริง

Advertisment