คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงานเปิดรับฟังความเห็น 5 เรื่องเร่งด่วนหลังความต้องการใช้พลังงานลดเพราะพิษโควิด-19

1535
- Advertisment-

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดรับฟังความเห็นปรับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 5 เรื่องเร่งด่วน(Big Rock) หลังการใช้พลังงานประเทศเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบ โควิด-19 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี เดือนพ.ย. 2563  โดย5 เรื่องเร่งด่วนประกอบด้วย  การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ(One Stop Service) ด้านการกำกับกิจการพลังงาน ,การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ,การใช้มาตรการธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน ESCO ภาครัฐ , การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 และการปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ประชาชนและผู้สนใจสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ได้ที่ Thaienergyreform2017@gmail.com หรือทางไปรษณีย์ถึง “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน)” เลขที่962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 รายละเอียดเพิ่มเติม http://nscr.nesdb.go.th ภายในวันที่ 6 ก.ย. 2563

พรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น “การปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน” ภายหลัง ภาคพลังงานของประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติ โควิด-19 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง ทั้งการใช้ไฟฟ้าลดลงจนทำให้ไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงขึ้น, การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลง,ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งลดลง ส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังราคารับซื้อพลังงานทดแทนที่สูงกว่าราคาเชื้อเพลิงหลัก เป็นต้น

ดังนั้นคณะกรรมการฯ เห็นสมควรปรับแผนปฏิรูปด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการลงทุน และการจ้างงาน สร้างรายได้ พร้อมกับการดูแลราคาพลังงานไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงได้เปิดรับฟังความเห็นใน 5 กิจกรรมเร่งด่วนที่มีความสำคัญและมีผลกระทบสูงต่อการขับเคลื่อนประเทศ (Big Rock ) ได้แก่

- Advertisment -

กิจกรรมการปฏิรูปที่ 1 การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้านการกำกับกิจการพลังงาน
กิจกรรมการปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center: NEIC)
กิจกรรมการปฏิรูปที่ 3 การใช้มาตรการธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน ESCO ภาครัฐ
กิจกรรมการปฏิรูปที่ 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve)
และกิจกรรมการปฏิรูปที่ 5 ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ภายหลังรับฟังความเห็นแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะนำความเห็นไปปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ฉบับที่ 2 Big Rock ให้สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิรูปประเทศประมาณเดือนพ.ย. 2563 และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศบังคับใช้ต่อไป

กวิน ทังสุพานิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึงการปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ในกิจกรรมการปฏิรูปที่ 5 ว่า การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) จะมีการปรับใหญ่ทุก 5 ปี ซึ่งรอบที่จะปรับใหญ่ครั้งต่อไปจะตรงกับปี 2565 ซึ่งจะเรียกว่าแผน PDP2022 ซึ่งการปรับแผนครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะจะพิจารณาถึงผลกระทบจาก โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ

โดย PDP2022 จะเน้นหลักการด้านการบริหารโครงสร้างราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ,เปลี่ยนระบบการผลิตจากรวมศูนย์สู่กระจายศูนย์ ,แยกระบบส่งและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากกิจการผลิตไฟฟ้า เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งการผลิตใช้เองและขายเข้าระบบ พร้อมปฏิรูปการบริหารจัดการของ 3 การไฟฟ้าให้ประสานเชื่อมโยงแผนลงทุน และแผนปฏิบัติการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนการปฏิรูปด้านก๊าซธรรมชาติจะต้องจัดหาก๊าซฯ ให้มีความต่อเนื่องไม่เกิดการหยุดชะงักทั้งแหล่งอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศเพื่อหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม และสร้างโอกาสให้ประเทศเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Trading Hub) เป็นต้น

คุรุจิต นาครทรรพ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

นายคุรุจิต นาครทรรพ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึง มาตรการธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน ESCO ภาครัฐ ในกิจกรรมการปฏิรูปที่ 3 และกิจกรรมการปฏิรูปที่ 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve)
ว่า ESCO เป็นบริษัทจัดการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของเอกชนมากมาย เพราะช่วยให้เกิดการประหยัดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานคือ บริษัทที่เป็น ESCO จะลงทุนอุปกรณ์ในอาคารบ้านเรือนที่ต้องการประหยัดพลังงาน  และเมื่อได้ผลประหยัดออกมาแล้ว ทางเจ้าของอาคารบ้านเรือนนั้นๆ จะต้องแบ่งผลประโยชน์หรือเงินให้กับ ESCO ตามผลประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นเป็นต้น

ทั้งนี้อาคารภาครัฐควรใช้ระบบดังกล่าวด้วย เนื่องจากแต่ละปีอาคารภาครัฐมีรายจ่ายค่าไฟฟ้าถึง 4.7 หมื่นล้านบาท หากประหยัดได้ 10% จะเท่ากับประหยัดได้ถึง 5  พันล้านบาท ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายระยะแรกคืออาคารภาครัฐจำนวน 876 อาคาร คาดว่าจะช่วยประหยัดพลังงานภาครัฐคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาทต่อปี ลดงบประมาณด้านซ่อมบำรุง และเกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในอาคารของรัฐ ช่วยสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) อาทิ ระบบ Censor เครื่องมือ/อุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อต่อยอดไปสู่ Smart home/ Smart Building โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ทำการประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างงานใหม่ (Green Job) ให้กับประเทศไทยไม่น้อยกว่า 37,500 ตำแหน่ง ในระยะ 10 ปีข้างหน้า การจะปฎิรูปการประหยัดพลังงานในอาคารของรัฐดังกล่าวได้ ภาครัฐจะต้องปรับแก้ระเบียบเพื่อรองรับระบบ ESCO ด้วย

ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ทำการศึกษาทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 เช่น เปลี่ยนจากการผลิตปิโตรเคมีเพื่อทดแทนการนำเข้า เป็นการผลิตเพื่อส่งออกสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่ม โดยการตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรในอีก 30 ปีข้างหน้า ก็ควรพิจารณาว่าควรมองหาพื้นที่ใหม่นอกจากพื้นที่จังหวัดระยองเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่น ในภาคใต้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับสังคม เป็นต้น

นายมนูญ ศิริวรรณ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึง กิจกรรมการปฏิรูปที่ 1 การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้านการกำกับกิจการพลังงาน  และกิจกรรมการปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center: NEIC) ว่า การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ OSS  จะต้องปรับกฎหมายกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้ตั้ง OSS ได้ ซึ่ง OSS จะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนการขออนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เบื้องต้นจะพิจารณาตัดขั้นตอนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมไป เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4)ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าและทำให้การผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ได้ทันตามกำหนดสัญญาได้ และมีกำหนดตั้ง OSS ให้เสร็จในปี 2563 นี้

ส่วนการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC) เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผน การตัดสินใจเชิงนโยบาย และเป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลด้านพลังงานที่โปร่งใส แม่นยำ เชื่อถือได้ โดยมีการปรับปรุงเป้าหมายและกิจกรรม ได้แก่ การสร้าง Branding NEIC ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ผ่านการจัดตั้งกลไกกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นระบบและมีรูปแบบสื่อสารที่เข้าใจง่าย เพื่อลดการบิดเบือนข้อมูล สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญผ่านกลไกผู้บริหารสารสนเทศระดับสูง (CIO) ร่วมกับพลังงานจังหวัด สื่อมวลชน และเครือข่าย Social ด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจข้อมูลด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง ลดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อนโยบายพลังงาน

ในระยะแรก NEIC จะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงานก่อน จากนั้นตั้งเป้าหมายให้แยกเป็นองค์กรอิสระในปี 2565 ซึ่งความคืบหน้าในการดำเนินงานนั้น ขณะนี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์ NEIC แล้ว และจะเปิดรับฟังความเห็นต่อการตั้งศูนย์ดังกล่าวในวันที่ 9 ก.ย. 2563 นี้

ทั้งนี้ ประชาชนและผู้สนใจสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ได้ที่ Thaienergyreform2017@gmail.com หรือทางไปรษณีย์ถึง “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน)” เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 รายละเอียดเพิ่มเติม http://nscr.nesdb.go.th ภายในวันที่ 6 ก.ย. 2563

Advertisment