คณะกรรมการ SEA คาดเม.ย.2562รู้ผลโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

238
- Advertisment-

คณะทำงานศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสาตร์ (SEA) ได้รับงบ 50 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เตรียมเปิดว่าจ้างผู้ศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ คาดรู้ผล พ.ย.2561 ระบุกำหนดกรอบเวลาศึกษา 9 เดือน แต่จะรู้ผลว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่าหินหรือไม่ รวมถึงจะใช้พื้นที่จ.กระบี่ และอ.เทพาจ.สงขลา หรือไม่ภายใน 5 เดือน หรือ เม.ย. 2562 ชี้เป็นข้อมูลทางวิชาการนำไปปรับใช้กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP)ฉบับใหม่ได้   

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน และในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยภายหลังการประชุม SEA ครั้งที่ 5 ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้การสนับสนุนงบ 50 ล้านบาท สำหรับให้ SEA ว่าจ้างผู้ศึกษา “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้”

โดยกระทรวงพลังงานจะเปิดรับนิติบุคคลที่สนใจจะเข้ามาศึกษาโครงการฯ เพียง 1 ราย ทั้งนี้จะเปิดชี้แจงเงื่อนไขการแข่งขัน(TOR) และตอบข้อสงสัยผู้ที่สนใจในวันที่ 14 ก.ย. 2561 จากนั้นจะให้เวลาผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการฯมายังกระทรวงพลังงานระหว่างวันที่ 17 ก.ย.-5 ต.ค. 2561 โดยคาดว่าจะได้ผู้ที่เข้ามาศึกษาโครงการฯ ในเดือนพ.ย. 2561

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามผู้ผ่านการคัดเลือกศึกษาโครงการฯ จะต้องดำเนินการศึกษาให้เสร็จภายใน 9 เดือน หรือ เดือนส.ค. 2562 แต่ภายในระยะเวลา 5 เดือนแรก หรือ เม.ย. 2562  จะต้องเห็นความชัดเจนใน 3 หัวข้อที่สำคัญ คือ 1.ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ 2. พื้นที่จ.กระบี่และอำเภอเทพา จ.สงขลา ควรเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ และ3.หากไม่เอาถ่านหินควรเลือกเชื้อเพลิงชนิดใดแทน

เมื่อผลการศึกษาจัดทำเสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลา 9 เดือนแล้วจะนำส่งรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐบาลพิจารณาต่อไป

“คณะกรรมการ SEA เป็นห่วงว่าจะมีใครมาสมัครเข้าศึกษาโครงการฯ หรือไม่ เพราะต้องศึกษาทุกอย่างรอบด้านและลงลึกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการฯ จะให้ความสำคัญกับข้อเสนอด้านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก และพิจารณาด้านเทคนิคก่อน จากนั้นจะพิจารณาด้านราคาต่อไป”

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการ SEA กล่าวว่า การศึกษาโครงการฯ ดังกล่าวไม่ช้าเกินไป เนื่องจากผลการศึกษาเป็นงานด้านวิชาการ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ที่กระทรวงพลังงานกำลังจัดทำอยู่ได้

นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน และในฐานะคณะกรรมการ SEA กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงานต้องการให้กระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในอนาคตเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ SEA กำลังศึกษาอยู่เป็นบรรทัดฐาน โดยหากจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก หรือเกิดความเห็นต่างอย่างรุนแรง  ควรตั้งคณะทำงานที่มาจากหลายฝ่ายและจากทุกภาคส่วนเช่นเดียวกับ SEA มาพิจารณาร่วมกันก่อน หากเห็นชอบจึงจะไปจัดทำรายงานรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA)ต่อไป

ปัจจุบันภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเกือบ 3,000 เมกะวัตต์  แต่ไฟฟ้าที่พึ่งพาได้จากโรงไฟฟ้าหลัก เช่น จะนะ และขนอม รวมเพียง 2,400-2,500 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 2,800-2,900 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นรับไฟฟ้ามาจากภาคกลางเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ ดังนั้นหากภาคใต้ต้องการพึ่งพาตัวเองด้านไฟฟ้าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักของตัวเองแต่จะเป็นเชื้อเพลิงชนิดใดขึ้นอยู่กับการศึกษาพิจารณาร่วมกันต่อไป

Advertisment