ในช่วงทศวรรษที่ 2010 ประเทศจีนกลายเป็นผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์รายใหญ่ของโลก ธุรกิจที่เติบโตก่อกำเนิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ทำให้แผงโซล่าเซลล์มีราคาที่ลดลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีนวัตกรรมด้านการผลิตที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก และที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ หลักๆ เป็นเพราะนโยบายและโครงการของภาครัฐ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังเพิ่มความเข้มข้นในการวิจัยและพัฒนาในทุกๆด้านของห่วงโซ่ธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ในเวลาที่ธุรกิจเฟื่องฟู ความท้าทายหลายอย่างก็ได้เกิดขึ้น ความท้าทายหลักอันหนึ่งเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของโมดูล ซึ่งหลังจากที่จัดการกับปัญหาการขาดแคลนโพลีซิลิคอนและราคาที่สูงได้แล้ว ก็ต้องมาเจอกับการขาดแคลนกระจกในการผลิตแผงโซล่าเซลล์ รายงานหลายชิ้นชี้ว่าราคากระจกสำหรับเคลือบแผงโซล่าเซลล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 71 จากเดือนกรกฎาคม 2563 และผู้ผลิตต้องเร่งการผลิตเพื่อให้มีสต็อกของเพียงพอกับการจำหน่ายในหนึ่งอาทิตย์ การขาดแคลนมีผลมาจากความต้องการโมดูลทั่วโลกที่เพิ่มสูงมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ในเวลาที่ธุรกิจกำลังมุ่งไปที่การผลิตแผงโซลาร์แผงไบฟาเชี่ยล (bifacial) ที่ให้พลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องใช้กระจกมากขึ้น
การขาดแคลนกระจกเกิดในช่วงเวลาที่ต้องเร่งก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้เสร็จก่อนสิ้นปีเพื่อให้ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล และการขาดแคลนยังเกิดขึ้นในเวลาที่รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาเพิ่มการอุดหนุนให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากจีนต้องการลดมลภาวะและเป็นประเทศที่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ก่อนปี 2060
ปัญหาสองด้าน – ราคากระจกและความต้องการที่สูงขึ้น
ความต้องการโมดูลลดลงช่วงต้นปี 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 แต่กลับฟื้นตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดช่วงระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ทำให้ซัพพลายเชนของธุรกิจได้รับผลกระทบมากจากความต้องการวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะกระจกและฟิล์ม EVA ความต้องการกระจกในอุตสาหกรรมแผงโซล่าเซลล์ยังเพิ่มมากขึ้นไปอีกเพื่อการผลิตแผงแบบ bifacial ซึ่งต้องใช้กระจกเคลือบทั้งด้านบนและด้านล่างเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นดินได้มากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า คาดกันว่าแผง bifacial จะมีปริมาณครึ่งหนึ่งของสินค้าทั้งหมดในตลาดภายในปี 2020 เทียบกับร้อยละ 14 เมื่อปีที่แล้ว
พูดได้ว่าร้อยละ 20 ของต้นทุนการผลิตแผงโซล่าเซลล์คือกระจก เพิ่มจากร้อยละ 10 และเนื่องจากการสร้างโรงงานผลิตกระจกต้องใช้เวลานาน จึงคาดกันว่าในปีหน้าผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์จะประสบกับการขาดแคลนกระจกราวร้อยละ 20-30 ของความต้องการ ก่อนที่สภาพอุปสงค์และอุปทานจะกลับมาสมดุลในปี 2022 ดังนั้นตอนนี้การเจรจาราคากระจก PV สำหรับเดือนพฤศจิกายนจึงได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อราคากระจกน่าจะขยับขึ้นอีกในช่วงเวลานี้ การขาดแคลนน่าจะกระทบการผลิตโมดูลอย่างมาก นอกเหนือไปจากราคาที่สูงขึ้น ซึ่งลูกค้าหรือเจ้าของโครงการโรงงานไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบไปด้วย
จับตาอุปทาน polysilicon อย่างใกล้ชิด
ในขณะนี้ ราคา polysilicon ยังคงที่จากความต้องการที่ยังสูงและปริมาณสินค้าที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ดูจากราคาเวเฟอร์ Tier-1 mono-Si ของ LONGi ในเดือนพฤศจิกายนที่ยังใกล้เคียงกับราคาในเดือนตุลาคม และยังมีการเพิ่มสายการผลิต เวเฟอร์ mono-Si ในเดือนหน้าผู้ผลิต polysilicon จะผลิตเต็มกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มอุปทาน ราคาซื้อขายจึงขึ้นอยู่กับผลของการเจรจา
ในเวลาที่ธุรกิจผลิตแผงโซล่าเซลล์ต้องแก้ปัญหาความต้องการกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือจับตามองธุรกิจการผลิต polysilicon อย่างใกล้ชิดไปด้วย
รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาแก้ปัญหา
เมื่อผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์ต้องเจอความท้าทายด้านการขาดแคลนกระจกและเมื่อสิ่งนี้กระทบกับแผนการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดของประเทศจีน ทุกคนในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องออกมาแก้ปัญหา
ในปี 2018 ตอนที่การใช้พลังงานในประเทศยังสูงและอุตสาหกรรมกระจกประสบกับปัญหากำลังการผลิตเกินความต้องการ รัฐบาลจีนได้สั่งห้ามไม่ให้บริษัทกระจกเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อควบคุมปริมาณสินค้าและปกป้องอุตสาหกรรมจากวิกฤติการเงิน
แต่สถานการณ์ในวันนี้แตกต่างกันอย่างมาก ความต้องการแผงโซล่าเซลล์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทำให้ความต้องการกระจกเพื่อการผลิตโมดูลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น LONGi และผู้ผลิตโมดูลรายใหญ่ในประเทศจีนอีก 5 รายจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกระจก ซึ่งตอนนี้กล่าวได้ว่า “อยู่นอกเหนือการควบคุม” ไปแล้ว
LONGi Solar, JinkoSolar, JA Solar, Trina Solar, Canadian Solar และ Risen ได้ร่วมลงนามในจดหมายขอให้รัฐบาลจีนยกเลิกข้อห้ามเพิ่มกำลังการผลิตกระจก อย่างน้อยก็เพื่อช่วยอุตสาหกรรมการผลิตแผงโซล่าเซลล์ ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์เหล่านี้ได้แจ้งรัฐบาลถึงการขาดแคลนกระจกและผลกระทบต่อการผลิตโมดูลที่ทำให้สายการผลิตต้องหยุดชะงักและต้องยืดเวลาส่งมอบสินค้าออกไป พวกเขาอยากให้ผู้ที่ลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่มีรัฐวิสาหกิจรวมอยู่ด้วย “เข้าใจจริงๆ ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และมีมาตรการรับมืออย่างจริงจัง เพื่อเลี่ยงหรือลดความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากการที่การเชื่อมต่อโรงไฟฟ้ากับระบบส่งไฟฟ้าต้องถูกเลื่อนออกไป” ในจดหมายยังย้ำว่ากำลังการผลิตกระจกเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์คือปัญหาที่ทำให้อุตสาหกรรมโซล่าเซลล์ไปต่อไม่ได้ “รัฐบาลควรจะพิจารณาอย่างจริงจังถึงปัญหาที่เราต้องประสบและแก้ไขข้อห้ามในการขยายกำลังการผลิตกระจกเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์”
“เราผลิตโมดูลได้ไม่เพียงพอและตอนนี้บริษัทที่ผลิตโมดูลจำนวนมากต้องส่งของล่าช้า”
ทางแก้ส่วนมากจะเกี่ยวเนื่องกับการลดค่าปรับและความเสียหายอื่นๆ ถ้าโรงไฟฟ้าเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าไม่ได้ตามกำหนดเพราะการขาดแคลนโมดูล ทั้งหกบริษัทจึงขอร้องให้หน่วยงานรัฐบาลออกนโยบายเพื่อ “ลดการเร่งรัดการติดตั้ง” ไปจนถึงสิ้นปีและให้คำแนะนำต่อโครงการที่ได้รับผลกระทบ
ในจดหมายฉบับนี้ยังขอให้ผู้ผลิตกระจกต้นน้ำ “หามาตรการและทำงานร่วมกัน” กับผู้ผลิตโมดูลปลายน้ำเพื่อรับประกันปริมาณกระจก ส่วนหน่วยงานรัฐระดับนโยบายควรจะมองเห็น “สถานการณ์เร่งด่วน” ที่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ต้องเจอและปรับลดข้อห้ามด้านการเพิ่มกำลังการผลิตกระจกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภายใต้แผนพัฒนา 5 ปีฉบับใหม่ของจีน
ผู้ผลิตโมดูลบางเจ้าสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้
แม้ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตกระจกเซลล์แสงอาทิตย์จะเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่ผู้ผลิตโมดูลบางรายก็สามารถทำสัญญาซื้อกระจกล่วงหน้าไว้แล้วเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการผลิต ซึ่ง LONGi เป็นหนึ่งในนั้น ที่ได้ประกาศสัญญาซื้อขายกระจกระยะยาวมูลค่า 6.5 พันล้านหยวนไปเมื่อเดือนสิงหาคม โดยเป็นสัญญาระหว่างบริษัทลูกของ CSG (1 ในผู้ผลิตกระจกรายใหญ่) และบริษัทลูกของ LONGi 12 บริษัท ซึ่งการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตกระจกทำให้ LONGi สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกระจกลงไปได้
ก้าวต่อไป
กำลังการผลิตโมดูลจะยังเพิ่มสูงขึ้นต่อไป โดยผู้ผลิตรายใหญ่อยากให้ขนาดมาตรฐานแผงโซล่าเซลล์มีขนาด 182 มม. ซึ่งการผลิตโมดูลจากเวเฟอร์ M10 ในขนาดนี้ออกมามากๆจะทำให้ความต้องการวัสดุในการทำกระจกสูงขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายความว่าหลังการขาดแคลนกระจกได้รับการแก้ไข ความท้าทายต่อไปจะเกี่ยวกับ silicon อย่างแน่นอน โดยบริษัทที่มี silicon หรือมีสัญญาส่งมอบ silicon อยู่ในมือจะเป็นผู้ชี้นำอุตสาหกรรมการผลิตแผงโซล่าเซลล์