“กอบศักดิ์”หารือ PEA และ กฟน. หวังลดปัญหาอุปสรรคโครงการโซลาร์ภาคประชาชน

452
- Advertisment-

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เชิญผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ PEA  และผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)หารือ เตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน เพื่อลดปัญหา อุปสรรค ก่อนที่กระทรวงพลังงานจัดทำกรอบรายละเอียดเสร็จในปี 2561

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้เชิญนายชัยยงศ์ พัวพงศกร ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และนายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เข้าหารือ  ถึงรายละเอียด โครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ภาคประชาชน หรือ โซลาร์ภาคประชาชน ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ  ที่คาดว่าจะเสร็จปลายปี 2561 นี้

ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ต้องการทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ซึ่งทั้งผู้ว่าการทั้ง  2 การไฟฟ้าได้รายงานว่า  ยังมีอุปสรรคทางด้านเทคนิคในการเชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งไฟฟ้า รวมถึงความเสถียรของระบบไฟฟ้า การจำกัดพื้นที่รับซื้อไฟฟ้าที่ต้องมีสายส่งไฟฟ้ามารองรับ ที่เบื้องต้นต้องรอความชัดเจนจากการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ในระหว่างการจัดทำแผน ว่าแต่ละภาคมีความต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าไหร่และสายส่ง สามารถจะรองรับได้   รวมทั้งราคารับซื้อไฟฟ้าต้องไม่เกินราคาขายส่งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ประมาณ 2.6-2.7 บาทต่อหน่วย

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามทั้ง สอง การไฟฟ้า ได้ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะร่วมมือกับ กฟผ.กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งวิธีดำเนินการและต้นทุน เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเสรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไ

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เตรียมยื่นหนังสือต่อ 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA)ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้พิจารณาปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง เนื่องจากพบว่ากติกาการของภาครัฐยังไม่เอื้อต่อการลงทุน เช่น มีข้อกำหนดให้ต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อนกลับ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยในภาคครัวเรือนจะมีต้นทุนสูงขื้นประมาณ 5 หมื่นบาท ขณะที่ภาคโรงงานอุตสาหกรรมมีต้นทุนสูงขึ้น 3-4 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการยื่นเอกสารขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่มีหลายขั้นตอนเกินไป

Advertisment