กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ประกาศตั้ง “รัฐฉัตร ศิริพานิช” ขึ้นแท่นผู้จัดการกองทุนฯ สานต่อโครงการปี 66 ในขณะที่วงเงินเหลือเพียง 1.2 หมื่นล้าน

1880
- Advertisment-

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประกาศแต่งตั้ง “นายรัฐฉัตร ศิริพานิช”  อดีตผู้บริหารดีแทค เป็นผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานคนใหม่แทน นายวีระศักดิ์ วีระธรรมโม ที่ยื่นหนังสือลาออกไปเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ทั้งที่ปฏิบัติงานได้เพียงแค่ 1 ปี 2 เดือน โดยภาพรวมกองทุนฯ เหลือเงินราว 12,912 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการคัดเลือกโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ ปี พ.ศ. 2566 วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานความคืบหน้าการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ว่า หลังจากที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามในฐานะประธานคณะทำงานสรรหาผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ประกาศรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่ง “ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ที่มีสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนฯ ทั้งสิ้น 4 ราย จากผู้สมัคร 5 ราย  ได้แก่

1.พลโท ดร.กฤตภาส คงคาพิสุทธิ์ (เคยดำรงตำแหน่งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามด้านพลังงานทดแทน)

- Advertisment -

2.นายวันชัย บรรลือสินธุ์  (เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.)

3. นายรัฐฉัตร ศิริพานิช (เคยดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน))

4. นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ (เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 ศาสตราจารย์ สกนธ์ วรัญญวัฒนา ประธานอนุกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ลงนามประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เรียบร้อยแล้ว คือ นายรัฐฉัตร ศิริพานิช  

ทั้งนี้นายรัฐฉัตร จะมาทำหน้าที่แทน “นายวีระศักดิ์ วีระธรรมโม” ที่ขอลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนฯ ไปตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทั้งที่ปฏิบัติงานได้เพียง 1 ปี 2 เดือน จากวาระงานที่กำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี และสามารถพิจารณาต่อสัญญาได้อีกวาระหนึ่งด้วย แต่นายวีระศักดิ์ ก็ยื่นลาออกไปก่อน

สำหรับประวัติ นายรัฐฉัตร ศิริพานิช นั้น จบการศึกษาด้าน MBA จากมหาวิทยาลัย Mercer University, Atlanta, Georgia สหรัฐอเมริกา ในวิชาหลักทางด้านการเงิน รวมถึงได้รับปริญญาบริหารศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ ABAC

ด้านประสบการณ์การทำงาน เคยดำรงตำแหน่งเป็น Key Account Management Director ของบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ UIH รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายการขายและการตลาดของบริษัท ยูไนเต็ด บรอดแบนด์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ UBT  นอกจากนี้ยังเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มงานนักลงทุนสัมพันธ์  แผนการเงินของบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ UCOM

และล่าสุดดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Government Relations) ของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค รวมทั้งยังเป็นเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ด้วย

ทั้งนี้นายรัฐฉัตร จะมีวาระดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คราวละไม่เกิน 4 ปี นับแต่วันที่เริ่มดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้างและอาจพิจารณาต่อสัญญาจ้างได้อีกวาระหนึ่ง ทั้งนี้ต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี และต้องทำงานให้สำนักงานบริหารกองทุนฯ ได้เต็มเวลา โดยปัจจุบันกองทุนฯ อยู่ระหว่างการคัดเลือกโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หลังจากเปิดรับสมัครไปตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึง 31 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา

สำหรับโครงการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับ 2 แผนงาน ได้แก่ 1. แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงินรวม 1,850 ล้านบาท และ 2. แผนงานบริหารจัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(ส.กทอ.) วงเงิน 150 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมฐานะของกองทุนฯ ที่สรุปโดยสำนักงานบริหารกองทุนฯ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2566  กองทุนฯ มีเงินคงเหลือรวม 12,912.50 ล้านบาท  จากในอดีตที่เคยมีวงเงินสูงสุด ณ วันที่ 31 ก.ค. 2561 อยู่ที่ 41,874 ล้านบาท อย่างไรก็ตามล่าสุดกองทุนฯ ได้กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปี 2565-2567 ไว้ โดยให้ใช้จ่ายเงินปีละ 4,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท โดยให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งในปี 2566 นี้ได้ให้เงินสนับสนุนเพียง 2,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่กำหนดไว้ 3,850 ล้านบาท และย้อนไปในปี 2564 ให้เงินสนับสนุนโครงการฯ ถึง 6,500  ล้านบาท

ส่วนรายรับของกองทุนฯ นั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 มีมติลดเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเวลา 3 ปี(2565-2567) โดยแบ่งเป็นในปี 2565 ปรับลดจาก 10 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินส่งเข้ากองทุนฯลดลงจาก 3,500 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียง 145-150 ล้านบาทต่อปี ส่วนในปี 2566 และปี 2567 ให้ปรับลดเหลือ 0.05 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เพื่อช่วยดูแลราคาน้ำมันในประเทศ
ดังนั้นจึงกำหนดหลักเกณฑ์จัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ฯ สำหรับปี 2565-2567 ใหม่ โดยจะลดกรอบวงเงินสำหรับโครงการที่ขอใช้เงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนลงจาก 10,000 ล้านบาทต่อปี เหลือ 4,000 ล้านบาทต่อปี

Advertisment