กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีสานคึกคักเตรียมปลูกไผ่ป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน

1723
- Advertisment-

วิสาหกิจชุมชนอีสานคึกคักเตรียมพร้อมพื้นที่ปลูกไผ่และไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภทชีวมวล ระบุสัญญาซื้อยาว 20 ปีสร้างรายได้ที่แน่นอน ในขณะที่ ” คิงส์แพลนท์ ” พร้อมคัดสายพันธุ์ไผ่นับล้านต้นกล้า รวมทั้งไผ่เพาะเนื้อเยื่อ ที่เหมาะกับการปลูกป้อนโรงไฟฟ้า ไว้รับมือ

หลังจากที่ กระทรวงพลังงาน ประกาศผลผู้ที่ได้สิทธิเสนอขายไฟฟ้าภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวน 43 รายรวมปริมาณ 149.50 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล 16 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ. ได้กำหนดให้โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล ต้องส่งเสริมการปลูกพืชปลูกใหม่ ซึ่งเป็นพืชที่โตไว ให้ค่าความร้อนที่ดี เช่นไผ่และกระถิน (Acacia) และต้องรับซื้อไม้สับ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้ปลูก ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลาอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 ปี นั้น ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ได้เริ่มมีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและจัดหาพันธุ์ต้นกล้าของไม้โตเร็วตามข้อกำหนดกันอย่างคึกคัก


นายทินรัชต์ นามแสง อดีตผู้ช่วยเกษตรอำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพลังงานทดแทนสู่ภาคเกษตรบ้านดุง เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการประกาศให้ บริษัทพลังงานบ้านดุง จำกัด ผ่านการคัดเลือก ทางสมาชิกในวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพลังงานทดแทนสู่ภาคเกษตรบ้านดุง ซึ่งมีที่ดินใกล้เคียงกับที่ตั้งโรงไฟฟ้าในรัศมี 100 กิโลเมตร ได้เริ่มเตรียมพันธุ์กล้าไผ่เพื่อปลูกป้อนโรงไฟฟ้า เพราะมั่นใจว่า การปลูกไผ่ส่งให้กับโรงไฟฟ้านั้นจะดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่น เนื่องจากเป็นการลงทุนปลูกแค่ครั้งเดียวแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี ที่สำคัญคือไผ่ไม่ต้องการการดูแลมากเหมือนพืชชนิดอื่น ไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมี โดยต้นไผ่นั้นสามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้ในอีกหลายช่องทาง ทั้งการขายหน่อไม้ ทำปุ๋ยหมัก ดินขุยไผ่ รวมทั้งเผาถ่านไม้ไผ่และขายน้ำส้มควันไม้อีกด้วย

- Advertisment -

ทั้งนี้สมาชิกวิสาหกิจฯบ้านดุง ประมาณ 200 กว่าคน ที่แจ้งความประสงค์มีที่ดินสำหรับปลูกไผ่รวมกันประมาณ 4,000 ไร่ อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม

นายทินรัชต์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนข้อกังวลของสมาชิกที่ช่วง 3 ปีแรกของการปลูกไผ่จะยังไม่มีรายได้นั้น ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าจะต้องมีการปลูกพืชระยะสั้นแซมในสวนไผ่ เช่น กล้วย พืชผักสวนครัว เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ในสวนไผ่ เพราะใบไผ่นำไปเลี้ยงสัตว์ได้  และที่น่าสนใจคือ การปลูกไม้โตเร็วร่วมกับไผ่ด้วย นั่นคือ กระถิน หรือ Acacia ที่พัฒนาพันธุ์แล้วโดยกรมป่าไม้และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสามารถส่งขายเป็นไม้สับให้กับโรงไฟฟ้าได้อีกทาง 
การเพาะเนื้อเยื่อ​คัดสายพันธุ์​ของไผ่​

ด้านนายณัฏฐ์ ผลาไชย ที่ปรึกษาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนภาคอีสาน กล่าวว่า มีการประเมินว่าสมาชิกน่าจะมีรายได้จากการขายไผ่ประมาณ 10,000-15,000 บาท ต่อไร่ต่อปี โดยหากดูแลไผ่ได้ดีมีระบบน้ำ ให้ปุ๋ยสม่ำเสมอ ผลผลิตไผ่จะมากขึ้น และสร้างรายได้ต่อไร่มากขึ้นด้วย


โดยช่วง 3 ปีที่ปลูกไผ่ และยังไม่ได้ตัดไผ่ส่งโรงไฟฟ้านั้น ทางวิสาหกิจจะสร้างระบบการให้เครดิตแก่สมาชิกที่ได้รับเงินอุดหนุนจากโรงไฟฟ้าตามกฎของ กกพ. ให้สามารถมารับสินค้าจากร้านค้าการเกษตร เช่น ปุ๋ย อุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ไปใช้ก่อน เพราะถือว่า สมาชิกมีสวนไผ่การันตีรายได้อยู่แล้ว และทุกสิ้นปี สมาชิกจะได้มีเงินปันผลตามสัดส่วนของการถือหุ้น โดยจำนวนหุ้นไม่ได้คิดที่ตัวเงิน แต่คิดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นให้นำฟางข้าว ใบอ้อย กิ่งไม้แห้ง นำมาชำระหุ้นแทน จากนั้นวิสาหกิจจะส่งต่อให้โรงไฟฟ้าสำหรับเผาทดสอบเครื่องผลิตปั่นไฟฟ้า ก่อนที่จะมีการปั่นไฟฟ้าส่งเข้าระบบจริงในปีที่ 3 ตามข้อกำหนด

นายเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์แพลนท์ จำกัด กล่าวเสริมอีกว่า ไผ่เป็นพืชปัจจัยสี่ ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งแต่รากยันปลายยอดใบไผ่ ไผ่ให้ออกซิเจนและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพืชทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นในสภาวะโลกร้อน เรื่องนี้จึงสำคัญ หลายประเทศเริ่มทำระบบ คาร์บอนเครดิตกันแล้ว และในแวดวงวิชาการของไทยก็เริ่มให้ความสนใจเรื่องคาร์บอนเครดิตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นอนาคตผู้ปลูกไผ่นอกจากได้ขายไผ่แล้ว ยังขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้อีกทาง รวมทั้งบางบริษัทสามารถทำซีเอสอาร์เรื่องนี้ได้ด้วย หากปลูกไผ่กันมากประเทศไทยจะมีพื้นที่สีเขียว เป็นป่าภายใน 3 ปี เพราะไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่โตไวที่สุดในโลก

โดยสิ่งที่บริษัทได้ให้ความสำคัญเป็นหลักคือ การพิจารณาพันธุ์ไผ่ ที่ต้องมีลักษณะที่ดี สามารถบริหารจัดการกอได้ง่าย มีคุณสมบัติของเนื้อไม้ที่เหมาะสม และที่สำคัญมากที่สุดคือ ไผ่เป็นพืชที่มีวงจรชีวิต หรือมีอายุขัย (ประมาณ 30-100 ปี ) แล้วแต่ชนิดของไผ่ พอถึงเวลาไผ่ก็จะออกดอกแล้วตายพร้อมกันหมดทั้งสวน

ดังนั้นการลงทุนปลูกไผ่จึงต้องปลูกไผ่ที่รู้อายุเท่านั้น เพราะต้องผลิตเพื่อส่งขายโรงไฟฟ้าตลอด 20 ปี

ทั้งนี้ผู้สนใจปลูกไผ่ ต้องการข้อมูลเรื่องไผ่ หรือเยี่ยมชมแปลงปลูกไผ่ ศูนย์เพาะเนื้อเยื่อ แปลงเพาะพันธุ์ไผ่ที่กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย สามารถสอบถามได้ที่ 081-836-5068,086-345-1848

Advertisment