กลุ่ม ปตท.เตรียมงบลงทุน 5 ปี กว่า 8.5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งต่อยอดธุรกิจหลัก ก้าวสู่ธุรกิจใหม่ รุก “Clean Energy” (พลังงานสะอาด) และ “Life Science” (วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต) พร้อมเผยผลการดำเนินงาน ปตท. ไตรมาส 4 ปี 2563 ฟื้นตัวดีขึ้น
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) – นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยถึงแผนวิสาหกิจ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) ของกลุ่ม ปตท. ว่า ได้เตรียมแผนลงทุนในวงเงินรวม 850,573 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) เพื่อลงทุนในธุรกิจหลักเช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 การขยายขีดความสามารถของ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 804,202 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย โดยการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ตามกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) เพื่อสร้างความสมดุลในการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับผลประกอบการของไตรมาส 4 ปี 2563 (4Q2563) และปี 2563 โดยใน 4Q2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 71,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,149 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีที่ได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในด้านสุขอนามัย การทำงานที่บ้าน และการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามต้นทุนเนื้อก๊าซฯ ที่ปรับลดลง และราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีอ้างอิงในตลาดโลก ในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง แม้ปริมาณขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กำไรสุทธิของ ปตท. และบริษัทย่อย ใน 4Q2563 มีกำไรสุทธิ จำนวน 13,147 ล้านบาท ลดลง 973 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 จากไตรมาสก่อนหน้า
ในส่วนผลการดำเนินงานของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 225,672 ล้านบาท ลดลง 63,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 ในปี 2562 โดยหลักจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ผลการดำเนินงานปรับลดลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง ประกอบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลงอย่างมาก โดยหลักจากการขาดทุนของค่าการกลั่นรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันในปี 2563 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมากจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่ 67.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายที่ลดลงตามราคาปิโตรเคมีอ้างอิงในตลาดโลกที่ปรับลดลงและปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบ COVID-19 และตามการปิดซ่อมบำรุงและปรับลดกำลังการผลิตให้เหมาะสมตามอุปสงค์ของลูกค้าในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ กลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2562 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยในปี 2563 มีกำไรสุทธิจำนวน 37,766 ล้านบาท ลดลง 55,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.4 จาก ในปี 2562
โดยตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท.ได้ร่วมเคียงข้างคนไทย ให้ก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เดินหน้าโครงการ Restart Thailand เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างทักษะอาชีพ ผ่านการจ้างแรงงาน พนักงาน และนักศึกษาระดับ ปวช.- ปริญญาตรีในทุกภูมิภาค รวมกว่า 25,000 อัตรา และสนับสนุนงบประมาณ 851 ล้านบาท เพื่อจัดหาและแจกจ่ายเจลแอลกอฮอล์ พัฒนาชุดตรวจคัดกรอง COVID-19 สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. เพื่อเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้มีการทบทวนค่าเป้าหมายระยะยาวของการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ปตท. ในปี 2573 โดยลดการปล่อยจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 27 เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามปกติ รวมถึงมีการนำกลไกราคาคาร์บอนมาประกอบการพิจารณาการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ทั้งทางตรงและทางอ้อม (GHG Scope 1 และ 2) อีกด้วย
ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ ปตท. ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ประจำปี 2563 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) โดยได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Upstream & Integrated รางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Awards) จากงาน “SET Awards 2020” ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน และยังได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2563 รางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางด้านการบริหารจัดการ ในงาน Thailand Corporate Excellence Awards 2020 และ รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2563 นอกจากนี้ ล่าสุดกลุ่ม ปตท. ได้มีบริษัทเรือธงใหม่ด้านน้ำมันและการค้าปลีก คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ซึ่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในประเทศ