กระทรวงพลังงานหนุนจัดหาไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ในพื้นที่ EEC

826
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน ร่วมขับเคลื่อนแผนลงทุนพื้นที่ EEC ผลักดันโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4 พร้อมสนับสนุนจัดหาไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ เตรียมเป็นเจ้าภาพตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกนโยบายและรูปแบบการบริหารจัดการพลังงานทดแทนในพื้น EEC ก่อนนำข้อสรุปเสนอ กพช. อนุมัติต่อไป เบื้องต้นมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในพื้นที่ EEC และมีแผนรองรับหากไม่เพียงพอ

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงพลังงาน นำโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมหารือกับ ดร.พรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ถึงความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ ปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และการบริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่ EEC เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้เกิดการสร้างงานและเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตหลังวิกฤติโควิด-19  โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่สำคัญ 2 ประเด็น ดังนี้

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน

ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4 ใน EEC ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน นั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการพร้อมสำรวจความพร้อมของนักลงทุน ซึ่งพบว่ามีกลุ่มนักลงทุนหลายกลุ่มให้ความสนใจและมีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC อย่างแน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 2564 และจะเกิดการลงทุนในช่วงปี 2568-2570 ซึ่งขณะนี้ทาง EEC ได้ตอบรับบรรจุเป็นแผนการลงทุนและจะเป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อไป

- Advertisment -

สำหรับการบริหารจัดการไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในพื้นที่ EEC นั้น กระทรวงพลังงานจะเป็นเจ้าภาพในการตั้งคณะกรรมการร่วมกำหนดนโยบายและรูปแบบการบริหารจัดการพลังงานทดแทนในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นผู้แทนจาก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (สป.) ร่วมดำเนินการหาข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กพช. ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นจะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในพื้นที่ EEC หรือหากไม่เพียงพอจะหาแนวทางเพื่อจัดหาพลังงานทดแทนรองรับการใช้ของอุตสาหกรรมภายใน EEC ให้เพียงพอและมีความมั่นคง

“กระทรวงพลังงาน พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับ EEC ซึ่งนอกจากจะช่วยเศรษฐกิจในพื้นที่แล้ว ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย โดยในส่วนของการผลิตและจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ EEC กระทรวงพลังงานพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายและรูปแบบการดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าพื้นที่ดังกล่าว” โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าว

Advertisment