กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พาคณะสื่อมวลชนฯ เยือนฮอกไกโด เพื่อทำความรู้จัก เรียนรู้และเข้าใจกับเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือCarbon capture and storage หรือ CCS ที่ไทยอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคต
ช่วงระหว่างวันที่ 29 ก.ค. -2 ส.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC ) ได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ข้าราชการจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย เพื่อศึกษาดูงาน “เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon capture and storage : CCS” ของบริษัท Japan CCS จำกัด ที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพยายามลดปัญหาการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศโลก และมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการจัดการกับปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงงานและโรงไฟฟ้า
เทคโนโลยี CCS ที่ทาง Japan CCS นำมาใช้เป็นกระบวนการลำเลียงคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการกลั่นน้ำมัน การผลิตไฟฟ้า หรือจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และนำมาผ่านกระบวนการทางเคมีด้วยสารละลายเอมีน(Amine) ทำให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความบริสุทธิ์ถึง 99% จากนั้นจะนำไปฝังไว้ในชั้นหินที่อยู่ใต้ทะเล ระดับความลึก 1,000 และ 3,000 เมตร ซึ่งเหนือชั้นหินดังกล่าวจะมีชั้นดินที่เป็นเสมือนตัวล็อกไม่ให้คาร์บอนไดออกไซด์ระเหยกลับขึ้นมาได้ เป็นเสมือนการนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่แหล่งกำเนิด จากที่มีสะสมอยู่ใต้ดินได้เป็นเวลาหลายล้านปี
ทั้งนี้ระบบ CCS ดังกล่าว ในญี่ปุ่นมีการนำมาใช้จริงอยู่ 17 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 5 แห่ง สำหรับจังหวัดฮอกไกโด ได้เริ่มทดสอบระบบ CCS ดังกล่าวตั้งแต่เดือนเม.ย. 2559 ภายใต้ชื่อโครงการ Tomakomai CCS Demonstration ดำเนินการโดยบริษัท Japan CCS จำกัด ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนหลัก และไม่ได้เน้นการแสวงหากำไร โดยใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 3 หมื่นล้านเย็น และค่าดำเนินการอีก 650 ล้านเยน สำหรับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงกลั่นน้ำมันเป็นหลัก สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 2 แสนตัน ซึ่งมีเป้าหมายในอนาคตจะเก็บให้ได้ 3 แสนตันต่อปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 เก็บได้ 1.9 แสนตัน
ภาพประกอบเทคโนโลยี CCS
นาย Yoshihiro Sawada ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บริษัท Japan CCS จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือกันว่าจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น และที่ผ่านมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวสารคาร์บอนฯ จะไม่รั่วไหลออกมา แต่หากเกิดการรั่วไหลจริงจะมีทีมงานสำรวจใต้ทะเลดำเนินการปิดรอยรั่วได้ นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่ากระบวนการ CCS ไม่ทำให้อุณหภูมิในทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทั้งนี้คาดว่าคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วประเทศญี่ปุ่นจะมีประมาณ 1.4 ล้านตัน สำหรับระบบ CCS สามารถนำมาใช้ได้กับทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี รวมถึงโรงไฟฟ้าด้วย
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในลักษณะเดียวกับญี่ปุ่น โดยปัจจุบันไทยยังคงใช้วิธีดูดซับคาร์บอนฯ ผ่านวัสดุเมมเบรน และนำไปฝังกลบ อย่างไรก็ตามกรมฯ ได้เตรียมความพร้อมไว้ในอนาคต หากรัฐบาลเห็นว่าไทยถึงเวลาต้องกักเก็บคาร์บอนฯ อย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมากรมฯ เคยทำการสำรวจพื้นที่สำหรับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตปิโตรเลียม เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นอาจจะใช้เหมืองโปแตสที่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อเหมืองหมดอายุสัมปทานหรือหยุดผลิต ทั้งนี้ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก เนื่องจากต้องเป็นการลงทุนจากภาครัฐและใช้เงินจำนวนมาก
ระบบการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS ใต้พื้นดินในทะเลของญี่ปุ่น นับเป็นเทคโนโลยีที่โดดเด่นด้านการคัดกรองคาร์บอนฯได้สูงถึง 99% ก่อนฝังกลบ ซึ่งช่วยลดปัญหาภาวะเรือนกระจกบนโลกใบนี้ ข้อดีคือสามารถใช้ได้กับทุกโรงงานและโรงไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หากดำเนินการได้ทุกประเทศอาจช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้รวดเร็วขึ้น แต่ในความเป็นจริงที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งนับเป็นเรื่องยากที่ประเทศกำลังพัฒนาจะดำเนินการตาม เนื่องจากเห็นว่าเงินจำนวนมากจะต้องนำไปแก้ไขปัญหาความยากจนก่อนเป็นอันดับแรก
อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าคาร์บอนฯที่กักเก็บไว้จะดำเนินการต่อไปอย่างไรต่อไป ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีแนวทางลดปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม โดยไทยยังคงมุ่งเน้นการผลิตและใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นไปตามข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ต่อไป
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำลังรับฟังการบรรยายจากตัวแทนบริษัท Japan CCS