กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคว้ารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ปี 2565

139
- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) คว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พร้อมก้าวสู่ Smart DMF เป็นศูนย์บริการข้อมูลด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติของประเทศ

ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะโฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า ในครั้งนี้ มีผลมาจากการประเมินของ ก.พ.ร. ใน 3 มิติ ประกอบด้วย มิติการเปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน มิติการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมิติหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูงและทันสมัย โดยครอบคลุมการดำเนินงานทั้ง 7 หมวด ของหน่วยงาน ซึ่งได้แก่ การนำองค์กร การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การบริหารองค์ความรู้ การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารการจัดกระบวนการทำงาน และผลลัพธ์การดำเนินการ ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์กรที่สะท้อนถึงระบบบริหารจัดการ ผลการดำเนินงานขององค์กรในภาพรวม และการยกระดับการเป็นหน่วยงานสมรรถนะสูงในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง
 
ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานทั้ง 7 หมวดข้างต้น ส่งผลให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถขับเคลื่อนภารกิจสำคัญที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน ซึ่งในปี 2565 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีผลงานโดดเด่น จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ 1. การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต 2. ระบบจัดเก็บรายได้และใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ 3. ฐานข้อมูลการประเมินศักยภาพเชื้อเพลิงธรรมชาติด้วยโปรแกรม Petrel และ 4. การพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
 
รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับพัฒนาจนเกิดผล โดยมีเพียง 1 หน่วยงานที่ได้รับ คือ กรมสรรพากร และระดับก้าวหน้า มีจำนวน 26 หน่วยงาน จากจำนวนหน่วยงานที่สมัครทั้งสิ้น 178 หน่วยงาน 
  
“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาหน่วยงานให้เป็น Smart DMF ศูนย์บริการข้อมูลด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติของประเทศ พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย การบริหารจัดการข้อมูลด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติของประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กรในการบริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และตอบสนองวิสัยทัศน์การบริหารจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อสร้างและรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศต่อไป” โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าว

 
Advertisment