กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยเก็บค่าภาคหลวงครึ่งปีแรก 2561ได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท คาดตัวเลขทั้งปียอดแตะ 4.2-4.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปี2560 หลังราคาน้ำมันดิบขยับเพิ่มขึ้น เผยตัวเลขรวมนับตั้งแต่ปี2524 จนถึงปัจจุบัน รัฐมีรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมแล้ว 2.1 ล้านล้านบาท พร้อมเสนอกระทรวงมหาดไทย ปรับลดค่าภาคหลวงที่จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)จาก20%ลงเหลือ 10% เพื่อนำมาเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หรือเทศบาลมากขึ้น
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย ดูงานเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน ของบริษัิท Japan CCS จำกัด ณ ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-2 ส.ค. 2561ว่า การเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมของประเทศครึ่งปีแรกของปี2561(ม.ค.-มิ.ย.)อยู่ที่ 21,922 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ส่งเข้าท้องถิ่น 1,079 ล้านบาท และส่งเข้าคลัง 20,843 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2561นี้ คาดว่า ค่าภาคหลวงฯจะอยู่ที่ 42,000-43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีค่าภาคหลวงฯอยู่ที่ 40,232 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากปี2560 ที่ผ่านมา
โดยหากรวมรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และรายได้อื่นๆ(ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต)นับตั้งแต่ไทยเริ่มต้นจัดเก็บค่าภาคหลวงปี2524 จนถึงมิ.ย.2561 มีทั้งหมดรวมกว่า 2.1ล้านล้านบาทแล้ว
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมสำหรับแหล่งผลิตบนบกนั้นกรมฯได้ให้ความเห็นกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อประกอบการแก้ไขพ.ร.บ.การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มหาดไทย เตรียมปรับปรุงโดยเสนอให้ลดค่าภาคหลวงที่ปัจจุบันจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด20%เป็น10% เพื่อนำมาเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หรือเทศบาล มากขึ้นเช่น ให้กับพื้นที่ที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานตั้งอยู่เช่น ระบบท่อ คลัง เป็นต้น เพื่อให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้รับการยอมรับมากขึ้นและให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน
ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2544 จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา การจัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียม โดย ค่าภาคหลวงสำหรับแหล่งบนบก ให้จัดสรรแก่ท้องถิ่นตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
-อัตราร้อยละ 20 ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)และเทศบาลในเขตพื้นที่สัมปทานที่มีการผลิตปิโตรเลียม
-อัตราร้อยละ 10 ให้แก่ อบต. และเทศบาลอื่นที่อยู่ในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมการผลิตปิโตรเลียม
-อัตราร้อยละ 10ให้แก่ อบต. และเทศบาลที่อยู่ในจังหวัดอื่น (ทั่วประเทศ)
-อัตราร้อยละ 20 ให้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
– ส่วนที่เหลือร้อยละ 40 นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ส่วน ค่าภาคหลวงสำหรับแหล่งในทะเล ให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด โดยเมื่อครบกำหนดเวลาที่จะต้องจัดสรรเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ให้แก่ ท้องถิ่นให้จัดทำรายงานสรุปรายละเอียดจำนวนเงินที่จัดสรรและนำฝากไว้ที่กรมบัญชีกลาง และโอนเงินดังกล่าวให้แก่องค์กรท้องถิ่นต่างๆ โดยส่งรายงานการจัดสรรเงินให้แก่ กองคลัง ปีละ 4 งวด คืองวดที่1 ภายในเดือนมกราคม งวดที่2 ภายในเดือน เมษายน งวดที่3 ภายในเดือน กรกฎาคม และงวดที่4 ภายในเดือน ตุลาคม