กรมธุรกิจพลังงานเผยกลยุทธ์ เปลี่ยนชื่อ B10เป็นดีเซล และดีเซล เป็น B7 ได้ผล โดยยอดขายเดือนต.ค.หลังเปลี่ยนชื่อครบ 1 เดือน เพิ่มจาก 13.3 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงเดือน ก.ย. เป็น 19.20 ล้านลิตรต่อวันในเดือน ต.ค.และเป็น 21.75 ล้านลิตรต่อวันในเดือน พ.ย. (อัพเดทถึง 15 พ.ย.63 ) พร้อมเดินหน้าเร่งปั๊มอิสระเปลี่ยนชื่อดีเซลให้ถูกต้องหลังปั๊มแบรนด์หลักดำเนินการครบแล้ว ในขณะที่เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเสนอแผนดันยอดใช้ดีเซลให้ถึงเป้าหมาย 50 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2564
น.ส.ลักขณา สุมาบัติ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากกรมฯ กำหนดให้ทุกปั๊มต้องเปลี่ยนชื่อน้ำมันไบโอดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10%ในทุกลิตร) มาเป็นชื่อใหม่ คือ “ดีเซล” และ ดีเซลเดิม เปลี่ยนเป็น “ดีเซลB7” ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่า ยอดการใช้น้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 21.75 ล้านลิตรต่อวันในเดือนพ.ย. 2563 (อัพเดทถึง 15 พ.ย.63 ) สูงกว่าเดือน ต.ค.2563 ที่มียอดใช้ 19.20 ล้านลิตรต่อวัน (เดือน ก.ย. ก่อนการเปลี่ยนชื่อมียอดใช้ 13.3 ล้านลิตรต่อวัน)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายผลักดันการใช้ดีเซลให้ถึง 50 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 21.75 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นกรมฯ เตรียมจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำการประชาสัมพันธ์การใช้ดีเซลให้มากขึ้น ตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้รถเครื่องยนต์ดีเซลทุกคันหันมาใช้น้ำมันดีเซลแทนการใช้ B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์ม 7% ในทุกลิตร ) และให้เฉพาะรถเก่าใช้ B7 ได้เท่านั้น
นอกจากนี้ทางที่ปรึกษาก็จะเสนอแผนงานส่งเสริมให้รถเก่าที่หมดการการันตีจากค่ายรถยนต์แล้วให้หันมาใช้น้ำมันดีเซลด้วยโดยอาจมีมาตรการช่วยเหลือเป็นพิเศษให้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในปี 2564 นอกจากจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้ดีเซลดังกล่าวแล้ว ยังจะมีมาตรการผลักดันการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์E20 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20%ในทุกลิตร) อีกด้วย ซึ่งอาจใช้วิธีสร้างส่วนต่างราคาเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้E20 โดยขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาแนวทางชดเชยราคาน้ำมันดังกล่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่าจะมีเงินเพียงพอต่อการดำเนินงานมาตรการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร
น.ส.ลักขณา กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การใช้ดีเซลB10 หลังจากเริ่มเปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นดีเซลนั้น พบปัญหาเล็กน้อยเพียงผู้ประกอบการบางรายไม่เข้าใจว่าการเปลี่ยนชื่อน้ำมันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำมันหรือไม่ ซึ่งกรมฯได้ชี้แจงทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้วว่าคุณภาพยังเหมือนเดิม โดยขณะนี้ปั๊มน้ำมันที่มีแบรนด์ ได้เปลี่ยนชื่อน้ำมันดีเซลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงปั๊มอิสระบางแห่งที่ภาครัฐต้องเข้าไปชี้แจงว่าการจำหน่ายน้ำมันไม่ตรงตามชื่อจะมีความผิด เพราะจะเกิดปัญหาสับสนตอนที่กรมฯส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน แต่โดยภาพรวมการเปลี่ยนชื่อและการใช้ดีเซลไม่มีปัญหาใหญ่แต่อย่างไร