กรมธุรกิจพลังงาน ประกาศ 1 ม.ค. 2567 น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดในไทยต้องใช้มาตรฐานยูโร 5 ทันที

2803
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงาน ประกาศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป การจำหน่ายน้ำมันทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลทุกชนิดจะต้องเปลี่ยนเป็นน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ตามกฎหมาย ชี้ต้นทุนโรงกลั่นเพิ่ม ส่วนราคาขายปลีกขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ส่วนการใช้น้ำมันในรอบ 4 เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ของประเทศไทย มียอดใช้เพิ่มขึ้น 3.1% เฉลี่ยอยู่ที่ 158.86 ล้านลิตรต่อวัน คาดครึ่งหลังปี 2566 การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ระบุเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 นี้ ผู้ค้าน้ำมันทุกรายจะต้องจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ( EURO 5) ตามที่กฎหมายกำหนด โดยตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งในไทยได้เตรียมความพร้อมรองรับการผลิตน้ำมันยูโร 5 แล้ว ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 น้ำมันที่จำหน่ายในไทยทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลจะเปลี่ยนจากมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 5 แทน

การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดสารกำมะถัน และส่งผลต่อการลดค่าฝุ่น PM 2.5 ลงด้วย แต่ยอมรับว่ามาตรฐานน้ำมันที่สูงขึ้น ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันบ้างแต่ไม่มากนัก

- Advertisment -

ส่วนภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ในรอบ 4 เดือน ของปี 2566 (เดือน ม.ค.-เม.ย.) พบว่ายอดการใช้น้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 158.86 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565  และคาดว่าในครึ่งหลังปี 2566 การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน

โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 ของน้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.86 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  5.8% สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 74.63 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 3.4% เนื่องจากเดือน เม.ย. 2565 มีการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วสูง เนื่องจากการคลายความกังวลของประชาชนจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COIVD-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลต่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.89 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 92.4% ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหลายประเทศ สำหรับการใช้ก๊าซหุงต้ม ( LPG ) เฉลี่ยอยู่ที่ 17.18 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  3.3%  และการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ( NGV ) เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.4%

ขณะที่การนำเข้า-ส่งออกน้ำมันของไทยในรอบ 4 เดือนนั้น พบว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงรวม เฉลี่ยอยู่ที่ 1,098,731 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.9% และปริมาณส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรวม อยู่ที่ 151,539 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 2.6% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,164 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการขนส่งและการใช้พลังงานปริมาณมาก โดยคาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้น 11.8% น้ำมันกลุ่มดีเซลปรับเพิ่มขึ้น 12.1% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ปรับเพิ่มขึ้น 23.7% น้ำมันเตาปรับเพิ่มขึ้น 20.2% และ LPG ปรับเพิ่มขึ้น 7.7%  โดยการคาดการณ์ของกรมฯ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้กรมฯ คาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ปี 2566 ในภาพรวมยกเว้นน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) จะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 เนื่องจากหลายประเทศยังคงมาตรการจำกัดการเดินทาง ประกอบกับธุรกิจสายการบินอยู่ระหว่างการฟื้นตัว

Advertisment