กฟผ.​จับมือ​ กลุ่มทรู​ ทดสอบเทคโนโลยี​ ​5G เป็นครั้งแรก​ที่แม่เมาะ​ ใน​กรอบเวลา​ 1​ ปี

488
- Advertisment-

กฟผ. จับมือ​ กลุ่ม ทรู ทดสอบเทคโนโลยี 5G ที่ กฟผ. แม่เมาะ ครั้งแรกในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของไทย โดย​ ทรู จะเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายสำหรับการร่วมพัฒนาภายใต้กรอบระยะเวลาความร่วมมือ 1 ปี ซึ่งจะยังไม่มีข้อผูกพันทางการค้า หรือการจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับนำมาใช้งานของ กฟผ. ในอนาคต​ พร้อมเปิดกว้าง​ ให้ความร่วมมือทดสอบเทคโนโลยี 5G กับเครือข่ายอื่น ๆ ด้วย

โดยพิธีลงนาม​ MOU โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารและบริการ 5G สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า​ ซึ่งจะทดสอบการใช้งานที่ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง​ ระหว่าง กฟผ.และกลุ่มทรู มีขึ้นเมื่อวานนี้ (4 มีนาคม 2564) โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. และนายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านธุรกิจองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นายปิยพงศ์ วรกี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ ทรู ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของไทยที่ร่วมทดสอบเทคโนโลยี 5G ซึ่ง ทรู เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายสำหรับการร่วมพัฒนาภายใต้กรอบระยะเวลาความร่วมมือ 1 ปี โดยนำเทคโนโลยีมาทดสอบการใช้งานที่ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ซึ่งระหว่างการทดสอบนี้ กฟผ. จะเก็บข้อมูลด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อไป

- Advertisment -

โดยถือว่าความร่วมมือดังกล่าวจะยังไม่มีข้อผูกพันทางการค้า หรือการจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับนำมาใช้งานของ กฟผ. ในอนาคต ซึ่ง กฟผ. มีความยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือทดสอบเทคโนโลยี 5G กับเครือข่ายอื่น ๆ ด้วย

ด้าน​ นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าความร่วมมือกับ กฟผ. ในครั้งนี้ ทรูได้ติดตั้งเครือข่าย True 5G เทคโนโลยี 5G Standalone (SA) เพื่อทดสอบที่ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ 5G Fixed Wireless Access (FWA) เพิ่มความครอบคลุมทั่วพื้นที่เหมืองแม่เมาะ โดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่สามารถลากสายสัญญาณได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลแบบไร้สาย พร้อมนำศักยภาพของเทคโนโลยีโครงข่ายที่ให้ความเร็วสูงในการใช้งาน รองรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้จำนวนมาก ทั้งยังมีความเสถียรและมีความหน่วงต่ำ
มาต่อยอดพัฒนาเป็นโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการพัฒนาระบบตรวจสอบลานกองถ่าน (Stockpile) ด้วยโดรนที่สามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงและตรวจจับความร้อนในลานกองถ่าน โดยมีการประมวลผลแบบเรียลไทม์ รวมถึง แว่น AR ทำงานร่วมกับกล้องวิดีโอ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานซ่อมบำรุงอีกด้วย

Advertisment