กฟผ.ขอติดหนี้ค่า​เชื้อเพลิง​ ปตท.หลังแบกภาระค่าไฟแทนประชาชนจนอ่วม 6 หมื่นล้าน

3207
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งสัญญาณขอติดหนี้ค่าเชื้อเพลิง ปตท. หลังแบกภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนตามนโยบายรัฐกว่า 6 หมื่นล้านแล้ว โดยหากไม่มีการปรับขึ้นค่าเอฟทีในงวด ก.ย-ธ.ค.65 ภาระที่ กฟผ.แบกไว้จะสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท ในขณะที่ แหล่งข่าวในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)  ​ระบุการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft งวดปลายปี2565 นี้จะช่วยลดภาระ กฟผ. ได้เพียงส่วนหนึ่ง โดยหากค่าเชื้อเพลิงในอนาคตปรับลดลงก็พร้อมเก็บเงินคืนให้ กฟผ. ได้ทันที   

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ช่วยตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา จนส่งผลให้ กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติ ว่า ที่ผ่านมา กฟผ.ดำเนินการตรึงค่า Ft ตามนโยบายรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยให้ประชาชนจ่ายค่า Ft ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และส่วนที่เหลือ กฟผ.แบกรับภาระไว้ก่อน จนกว่าค่าไฟฟ้าจะถูกลงและภาครัฐจะเก็บค่าไฟฟ้าคืนให้กับ กฟผ.ในภายหลัง

โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มในช่วง Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 ซึ่ง กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท และในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 กฟผ.แบกภาระอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นภาระที่ กฟผ.แบกรับไว้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการขอให้ตรึงค่า Ft ดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างภาครัฐกับ กฟผ.โดยตรง และเป็นเงินนอกกรอบบริหารค่าไฟฟ้าที่ กกพ. ดูแลอยู่ ดังนั้น กกพ. ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือทางด้านการเงินได้

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ไขปัญหาของ กฟผ.ในขณะนี้คือ ต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งที่ผ่านมา กกพ. ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อขอให้ดูแลด้านการเงิน กฟผ. หลังจากที่ กฟผ.ได้ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐที่ผ่านมาแล้ว  ทั้งนี้การขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องของ กฟผ. นั้นจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อน ซึ่ง กฟผ.จะต้องขอความเห็นจาก กกพ. ด้วย และ กกพ. ก็พร้อมให้การช่วยเหลือด้านเอกสารตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการขออนุมัติกู้เงินต่อไป

ทั้งนี้ยอมรับว่า กกพ. จะมีเงินเข้ามาทุกปีประมาณ 4-5 พันล้านบาท จากกรณีการไฟฟ้าไม่ลงทุนตามแผน,ค่าปรับต่างๆ รวมถึงกำไรที่การไฟฟ้าได้รับเกินจากผลตอบแทนการลงทุนที่รัฐกำหนดไว้  หรือเรียกรวมว่าเงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้า ซึ่งเงินส่วนนี้ปกติจะจ่ายคืนกระทรวงการคลัง หรือนำมาดูแลค่าไฟฟ้าประชาชน โดยหากปี 2565 นี้มีเงินเข้ามา 4-5 พันล้านบาทตามปกติ ก็จะนำมาเกลี่ยผลตอบแทนการลงทุนระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งหากยังเหลือเงินก็จะพิจารณาช่วยคืนให้กับ กฟผ.ด้วย

นอกจากนี้ค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2565 ก็จะต้องปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระ กฟผ.ลงได้ส่วนหนึ่ง เพราะหากไม่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเลย กฟผ.จะต้องแบกรับภาระหนักเกินไป และขาดสภาพคล่องมากขึ้นอีก อย่างไรก็ตามในอนาคตหากราคาค่าไฟฟ้าปรับลดลง ก็จำเป็นต้องอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวเก็บค่าไฟฟ้าคืนให้กับ กฟผ. ด้วยเช่นกัน

ส่วนกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้เต็มประสิทธิภาพตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากผู้รับสัมปทานรายเดิมไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) ของผู้ผลิตรายใหม่ ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตลาดโลกมีราคาสูงหลังได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นการตรึงค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 1-2 ปี และ กกพ. ไม่มีเงินเพียงพอจะช่วยตรึงค่าไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องพิจารณาปรับขึ้นค่า Ft งวดปลายปี 2565 (ก.ย.-ธ.ค. 2565) แต่ กกพ. จะปรับขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องอยู่รอดด้วย เพื่อความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนต่อไป   

ด้านแหล่งข่าวจาก กฟผ. เปิดเผยว่า หากการพิจารณาค่าไฟฟ้าส่วนค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 นี้ไม่มีการปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง และรัฐยังมีนโยบายให้ กฟผ.รับภาระ​ค่า Ft แทนประชาชนเพิ่มขึ้นอีก จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ.เป็นอย่างมาก เพราะตัวเลขของต้นทุนค่าเอฟทีจริงที่ประเมินไว้และต้องเป็นภาระต่อ กฟผ.ที่จะต้องแบกแทนประชาชนไปก่อน จะสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท

ในขณะที่ ภาระค่า Ft ที่ กฟผ.แบกไว้อยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ. ที่กำลังมีการเจรจาขอติดหนี้ค่าเชื้อเพลิงกับ ปตท. ที่ กฟผ.ต้องจ่ายทุกเดือน และต้องการให้รัฐช่วยดูแลให้ ปตท.ช่วยคิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมากกว่านี้ ในฐานะที่ทั้งสององค์กร​ต่างเป็นรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานที่ต้องทำหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

Advertisment