กฟผ.​แจงแผนผลิตไฟฟ้าสอดรับทิศทาง​ลดโลกร้อน

557
- Advertisment-

กฟผ.แจงแผนเดินหน้าผลิตไฟฟ้าผสมผสานเชื้อเพลิงที่หลากหลาย (Generation Mix) รักษาต้นทุนการแข่งขัน​ สอดรับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด​ ลดสภาวะโลกร้อน​ ทั้ง​“Green Kan Model” และ​ ” Mae Moh Model ” ด้วยคุณภาพไฟฟ้าที่​ World Bank​ การันตี และความน่าเชื่อถือองค์กรในระดับสากลที่​ BBB+

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญของทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่ผ่านมา​ กฟผ.ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้วยการผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานเชื้อเพลิงจากทรัพยากรที่หลากหลาย (Generation Mix) ภายใต้ต้นทุนราคาที่แข่งขันได้ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

- Advertisment -

โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านโครงการหลักคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) สามารถรองรับการนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม​ โดยยังคงมีความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของไฟฟ้าด้วยผลสำรวจดัชนีคุณภาพบริการไฟฟ้าที่ดีของไทยโดยธนาคารโลก (World Bank)
ที่ได้รับค่าเฉลี่ยความถี่ที่ไฟฟ้าดับ (SAIFI) และค่าเฉลี่ยระยะเวลาไฟฟ้าดับ (SAIDI) อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด

ในขณะที่ความน่าเชื่อถือของ กฟผ.ในระดับสากล​อยู่ที่ BBB+ (Fitch Ratings)

และเพื่อให้สอดรับกับ Roadmap ของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065 กฟผ. ได้ดำเนินภารกิจภายใต้กลยุทธ์ Triple S (Sources, Sink and Support) และร่วมกับพันธมิตรผลักดันพื้นที่ที่มีศักยภาพสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน​ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE100

อาทิ “Green Kan Model”ของจังหวัดกาญจนบุรีที่มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งสามารถจะต่อยอดสู่โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,100 เมกะวัตต์

การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydro Power) ของเขื่อนวชิราลงกรณ เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนพื้นที่จังหวัดลำปางก็มี​ Mae Moh Model ซึ่งมีศักยภาพทั้งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนพื้นดินและเชื้อเพลิงชีวมวล

ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างทดสอบกลไกการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก (Utility Green Tariff) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนกลไกซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของภาคนโยบายให้ได้มาตรฐานสากล และอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพื่อช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน

“กฟผ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพในราคาที่แข่งขันได้ ที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักในภูมิภาคอาเซียนของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างยั่งยืน” นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน กล่าว

Advertisment